แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2 และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏอยู่ข้างรถ การที่จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวออกมาขับรับผู้โดยสาร ย่อมเป็นการแสดงออกต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2เจ้าของรถในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427,821
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2539 เวลาประมาณ0.15 นาฬิกา นายสมบูรณ์ ไชยสินธุ์ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-2990 ขอนแก่น รับผู้โดยสารจากจังหวัดขอนแก่นเพื่อจะไปกรุงเทพมหานคร ขับมาตามถนนมิตรภาพจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา เมื่อขับมาถึงบริเวณระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 35ถึง 36 สะพานลำสีสุก ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7 ท – 1893 กรุงเทพมหานครในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งหรือด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2แล่นสวนทางมาจากจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้าไปจังหวัดขอนแก่นด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถที่ขับมาได้ทำให้รถเสียหลักแล่นพุ่งข้ามร่องแบ่งกึ่งกลางถนนมิตรภาพไปยังถนนฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นช่องเดินรถของรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 2990ขอนแก่น และหยุดบนผิวการจราจรของถนนโดยไม่ทำเครื่องหมายใด ๆเพื่อเตือนให้รถยนต์อื่นทราบว่า มีรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 จอดกีดขวางช่องเดินรถอยู่ทำให้รถโดยสารซึ่งนายสมบูรณ์เป็นผู้ขับชนกับรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถโดยสารชนรั้วกั้นถนนและราวสะพานลำสีสุกแล้วพลิกคว่ำลงบริเวณกลางสะพานลำสีสุก การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7 ท – 1893 กรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน2,842,441 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน2,659,594 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และไม่ได้ทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการ ในวันเวลาดังกล่าวลูกจ้างโจทก์ขับรถโดยสารด้วยความประมาทเลินเล่อและด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถโดยสารชนรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไป จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นเจ้าของรถแท็กซี่แต่ไม่ได้ครอบครองเพราะให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการ จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถโดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 2990 ขอนแก่น โดยโจทก์นำรถคันดังกล่าวเข้าร่วมกิจการกับบริษัทขนส่ง จำกัด ตามใบอนุญาตเลขที่ 35/31 ซึ่งสิ้นอายุวันที่ 23 มีนาคม 2538 ขณะเกิดเหตุรถคันดังกล่าวสิ้นอายุแล้ว โจทก์จึงไม่อาจใช้รถคันดังกล่าวแล่นรับส่งผู้โดยสารในขณะเกิดเหตุได้ จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7 ท – 1893 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 2 จริง แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ รถโดยสารใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 3 เดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน 1,300,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2539จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้เพียง 11 เดือนตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้จำนวน 15,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 9,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
“ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ได้ความว่า รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2อ้างว่า ขณะเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปโดยยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ออกค่าซ่อมรถแท็กซี่คันดังกล่าวที่เสียหายเพียงผู้เดียว เห็นว่า รถแท็กซี่คันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏอยู่ข้างรถ การที่จำเลยที่ 1 นำรถแท็กซี่คันดังกล่าวออกมาขับรับผู้โดยสาร ย่อมเป็นการแสดงออกต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารเช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427, 821 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยในประเด็นนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นแต่อย่างไรก็ดี เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วยจึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพียงสามในสี่จากที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน975,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์