คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10418/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ษ – 2128 กรุงเทพมหานคร ไว้จากเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2542 ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 7632 สุพรรณบุรี ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายหรือยินยอมของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ซึ่งหากพิจารณาข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเหตุละเมิดเกิดก่อนวันที่สัญญาประกันภัยมีผลคุ้มครอง แต่ในการแปลคำฟ้องนั้นมิได้พิจารณาเฉพาะข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ต้องพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบด้วยเมื่อพิจารณาเอกสารที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องต่างระบุตรงกันว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2542 เห็นได้ชัดว่าโจทก์พิมพ์ปีที่เกิดเหตุละเมิดผิดพลาด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดในระหว่างอายุสัญญาประกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนที่พิมพ์ผิดพลาดดังกล่าวและไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๗๗,๔๗๐.๓๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๕๙,๓๑๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกินเป็นเงิน ๖,๗๓๗.๕๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องความว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๙ ษ – ๒๑๒๘ กรุงเทพมหานคร ไว้จากเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว โดยมีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – ๗๖๓๒ สุพรรณบุรี ของจำเลยที่ ๒ ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายหรือยินยอมของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ซึ่งหากพิจารณาข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเหตุละเมิดเกิดก่อนวันที่สัญญาประกันภัยมีผลคุ้มครอง แต่ในการแปลคำฟ้องนั้นมิได้พิจารณาเฉพาะข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ต้องพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบด้วย และเมื่อได้พิจารณาเอกสารที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องอันได้แก่แผนที่เกิดเหตุ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและหนังสือทวงถามให้ชดใช้ค่าเสียหายประกอบด้วยแล้วปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวต่างระบุตรงกันว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย กรณีจึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์พิมพ์ปีที่เกิดเหตุละเมิดผิดพลาด คือ พิมพ์ปี ๒๕๔๒ เป็นปี ๒๕๔๐ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ส่วนเอกสารท้ายฟ้องจะรับฟังได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณาและศาลเป็นผู้วินิจฉัย ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างหรือตัวการให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนที่พิมพ์ผิดพลาดดังกล่าวและไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share