คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต นับว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรง ศาลคิดค่าเสียหายดังกล่าวให้ได้ แต่กรณีของโจทก์ที่ 2 เป็นการพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้ได้แน่ว่าจะมีอาการแทรกซ้อน ทำให้โจทก์ที่ 2ต้องผ่าตัดหรือไม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เรียกได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6,000 บาทตามคำขอของโจทก์ที่ 2 โดยสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับหมู่ จำเลยที่ 2เป็นรองผู้กำกับการและเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3เป็นนิติบุคคลประเภทกรม กองกำกับการ 2 กองบังคับการฝึกพิเศษตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 23 เมษายน2528 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ 3 เพื่อไปปฏิบัติราชการตามนโยบายของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อเมื่อถึงทางแยกได้ขับรถเลยทางแยกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงหยุดรถแล้วถอยรถกลับเพื่อจะเลี้ยวเข้าทางแยก ขณะถอยรถไม่ได้ใช้กระจกส่องหลังและถอยรถกินทางเข้าไปในช่องเดินรถด้านขวาทิศใต้ของถนน โดยไม่ได้ดูว่ามีรถแล่นสวนมาหรือไม่ ขณะเดียวกันโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์แล่นสวนมาโจทก์ที่ 1 จึงให้สัญญาณแตรเพื่อให้จำเลยที่ 1 หยุดรถ แต่จำเลยที่ 1ไม่หยุดรถ โจทก์ที่ 1 ห้ามล้อโดยแรงแต่รถหยุดไม่ทัน พุ่งเข้าชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติรถยนต์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุด จากเหตุดังกล่าวรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ โจทก์ที่ 1ได้รับบาดเจ็บ รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 330,837 บาทโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 33,880บาท ต้องได้รับทุกข์ทรมานเสียสุขภาพอนามัยคิดเป็นเงิน 10,000 บาทหลังจากรักษาหายแล้วโจทก์ที่ 2 ทำศัลยกรรมตกแต่งบาดแผลที่ใบหน้าแต่ไม่สามารถทำให้คืนดีอย่างเดิมได้ใบหน้าเสียโฉม ค่าเสียโฉมเป็นเงิน 50,000 บาท และเนื่องจากมีเศษกระจกฝังในลำคอใกล้เส้นเลือดใหญ่แพทย์ไม่ได้ผ่าออกเพราะอันตรายในอนาคตอาจเกิดการเจ็บปวดอักเสบก็ต้องผ่าตัดออกคิดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเป็นเงิน6,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 99,880 บาทโจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน430,717 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์บรรทุกไปราชการที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน1จ-6329 กรุงเทพมหานคร รถทั้งสองคันเสียหายและมีผู้บาดเจ็บเหตุที่รถชนกันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียว แต่โจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทด้วย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ไม่ได้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ปฏิบัติไปตามระเบียบของทางราชการจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 224,227บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 83,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 224,727 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่โจทก์ฎีกาว่ามีเศษกระจกฝังอยู่ในลำคอโจทก์ที่ 2 ใกล้เส้นเลือด อาจต้องทำการผ่าตัดและเสียค่าใช้จ่ายซึ่งโจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้ 6,000 บาทเห็นว่า พยานโจทก์คือนายแพทย์วิชัย ชี้เจริญ เบิกความว่าการปล่อยเศษกระจกไว้ดังกล่าวจะมีหรือไม่มีอาการแทรกซ้อนในภายหลังก็ได้ ดังนี้จึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นถึงกับต้องมีการผ่าตัด แต่ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต นับว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรง ศาลคิดค่าเสียหายดังกล่าวให้ได้ แต่กรณีของโจทก์ที่ 2 เป็นการพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้ได้แน่ว่าจะมีอาการแทรกซ้อนทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องผ่าตัดหรือไม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพียงใดศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เรียกได้ตามที่ใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6,000 บาท ตามคำขอของโจทก์ที่ 2 โดยสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 259,727 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าผ่าตัดภายหน้าเพื่อเอาเศษกระจกที่ฝังอยู่ในลำคอโจทก์ที่ 2 ออกตามที่โจทก์ที่ 2 จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 6,000 บาทโดยศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share