คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยภริยาผู้ตายไม่ได้ให้ความยินยอม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นทายาทที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมนัส จิตตะสิริ ผู้ตาย ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกขอให้สั่งเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกผู้ตายต่อศาลชั้นต้นเป็น 2 ประเภท คือบัญชีทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ตายกับบัญชีทรัพย์สินสมรสของผู้ตาย ซึ่งบัญชีทรัพย์สินสมรสดังกล่าว จำเลยทราบอยู่แล้วว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาปิดบังทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อจำเลยจะได้รับมรดกมากกว่าที่ควรจะได้ ทั้งจำเลยยังได้ขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่วนตัวของผู้ตายไปในราคาถูกเกินกว่าความเป็นจริงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น อันเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้พิพากษาว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายและบังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ถ้าการแบ่งทรัพย์ไม่เป็นที่ตกลงกันให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาทตามส่วนที่ควรได้รับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกอื่นแสดงต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินสมรสท้ายฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลย จำเลยมิได้ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวอย่างสินส่วนตัว ขณะผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ผู้ตายมีนางจรัสศรีเป็นคู่สมรสอยู่ แต่นางจรัสศรีมิได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายจะใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า ผู้ตายได้จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม2515 โดยนางจรัสศรี จิตตะสิริ ภรรยาผู้ตายในขณะนั้นไม่ได้ให้ความยินยอม ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2528 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า การจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พุทธศักราช2477 ยังใช้บังคับอยู่ กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการรับบุตรบุญธรรมไว้ในลักษณะ 2 หมวดที่ 4 มาตรา 1584 ว่า ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสนั้นก่อน เว้นแต่คู่สมรสนั้นวิกลจริตหรือสูญหายไปไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ขณะผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายมีนางจรัสศรี จิตตะสิริเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากนางจรัสศรี การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ตายกับโจทก์ทั้งสอง ในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586 (1598/28ที่ได้ตรวจชำระใหม่) โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นทายาทตาม มาตรา 1599ที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้
เมื่อคดีฟังได้ว่าการจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายไม่สมบูรณ์และไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรับมรดกผู้ตายแล้วประเด็นข้ออื่นที่เหลือจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share