แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อน เคยไปหาผู้เสียหายที่บ้านเพื่อขอแบ่งผลประโยชน์จากวินรถจักรยานยนต์รับจ้างในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไปหาผู้เสียหายที่บ้านเพื่อทวงเสื้อวินแต่จำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายโต้เถียงกันจนเกิดการยิงกันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายมาก่อนกรณีจะถือว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรหาได้ไม่จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80,83, 364, 365, 371, 91, 33 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และขอให้ริบมีดและเม็ดกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 364, 365(1)(2)(3), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและบุกรุก เป็นการกระทำต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำคุก 10 ปีกระทงหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี กระทงหนึ่งและฐานพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งสิ้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 364(1)(2)(3) (ที่ถูกคือมาตรา 365(1)(2)(3)) ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี มีดและเม็ดกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนอุทธรณ์ จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนอาวุธมีดให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนเม็ดกระสุนปืนของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อมาเฉพาะจำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนอุทธรณ์จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1คดีความผิดฐานมีอาวุธปืน พกพาอาวุธปืน พยายามฆ่าผู้อื่น สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติ คงมีปัญหาเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยมีอาวุธสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยความผิดทุกข้อหาความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมกันมา เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดได้ยกขึ้นว่ากล่าว แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 มาตรา 208(2) และมาตรา 225 สมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คืนอาวุธมีดของกลาง ให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ขณะพยานกับพวกประมาณ 10 คน รับประทานอาหารและดื่มสุราฉลองการที่ผู้เสียหายได้เป็นหัวหน้าวินรถจักรยานยนต์ที่บ้านผู้เสียหายนั้นจำเลยที่ 1 ไปเรียกผู้เสียหายได้โต้เถียงกันเรื่องเสื้อวินหลังจากนั้นผู้เสียหายยิงปืนไปที่จำเลยที่ 1 จำนวน 1 นัดสาเหตุคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ไปทวงเสื้อวินจากผู้เสียหายแล้วผู้เสียหายไม่ให้ผู้เสียหายก็เบิกความรับเจือสมกับคำของนายธานินทร์ว่าก่อนเกิดเหตุ 2-3 วัน จำเลยทั้งสองมาขอเก็บเงินรายได้จากวินรถจักรยานยนต์รับจ้างของผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายไม่ให้ เมื่อคำนึงถึงว่าผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองรู้จักกันดี จำเลยทั้งสองเคยมาขอแบ่งผลประโยชน์จากวินรถจักรยานยนต์รับจ้างจากผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองไม่เคยมีเรื่องราวกัน ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า ในวันเกิดเหตุนั้นจำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อขอแบ่งผลประโยชน์จากวินรถจักรยานยนต์รับจ้างแต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น โดยจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายมาก่อน กรณีดังกล่าวจะถือว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรหาได้ไม่จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน