คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2924/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝาก หรือจากการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาประโยชน์ได้ มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้กับจำเลยหรือไม่ หากเห็นว่าลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ จำเลยก็ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้นการที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นธนาคาร โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลยในประเภทกระแสรายวัน ปรากฏว่าจำเลยได้นำเช็คปลอมลายมือชื่อโจทก์หักเงินในบัญชีโจทก์ 240,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีโจทก์จำเลยไม่จัดการให้ ขอให้จำเลยชำระเงิน 265,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 240,000 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์ประสงค์จะจ่ายเงินให้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลม โดยขอแลกเช็คซึ่งธนาคารจำเลยสาขากิ่งเพชรเป็นผู้สั่งจ่ายจำนวน 240,000 บาท โจทก์ได้ออกเช็คจำนวน 240,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่สาขากิ่งเพชรของจำเลยหรือผู้ถือแล้วมอบให้บริวารของโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปมอบให้แก่สาขากิ่งเพชรของจำเลย สาขากิ่งเพชรของจำเลยได้ออกเช็คสาขากิ่งเพชรเองสั่งจ่ายให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลม มอบให้แก่บริวารของโจทก์ และรับเช็คที่โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายไว้เป็นการแลกเปลี่ยน เช็คฉบับดังกล่าวของโจทก์เป็นเช็คอยู่ในเล่มที่โจทก์รับไปจากสาขากิ่งเพชรของจำเลย เพื่อใช้สำหรับการสั่งจ่ายจากบัญชีลายเซ็นผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายเซ็นของโจทก์ สาขากิ่งเพชรของจำเลยมีสิทธิใช้เช็คฉบับดังกล่าวหักบัญชีของโจทก์ได้ หากว่าเป็นเช็คปลอม โจทก์ก็ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการรับเปิดบัญชี โดยโจทก์ไม่เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในที่มั่นคงปลอดภัย หรือมิฉะนั้นก็ประมาทเลิ่นเล่อให้ผู้อื่นได้เช็คไปปลอม โจทก์จึงต้องรับผิดเอง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2517 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาท เอกสารหมาย จ.9 เป็นลายมือชื่อของโจทก์หรือไม่ พันตำรวจตรีวิสุทธิพยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.9 เปรียบเทียบกับลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ที่เขียนไว้ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้ต่อธนาคารจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.11 และลายมือชื่อโจทก์อีกหลายลายมือชื่อที่ลงไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่าลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.9 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ ในการตรวจพิสูจน์ได้ถ่ายภาพขยายและแสดงรายละเอียดไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 จ.14 การตรวจใช้กล้องจุลทัศน์และเครื่องมืออันทันสมัยตรวจลายมือชื่อในเช็คพิพาทพบรูปลักษณะของตัวอักษร ลีลาการลากเส้น มีความแตกต่างกันลายมือชื่อที่เซ็นในเช็คพิพาท ช้าและสั่น รูปลักษณะตัวอักษณแตกต่างกับลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ เช่นตัว ป.ร.ส. และ ศ. มีรูปลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะเกิดจากความเคยชินในการเขียนของแต่ละบุคคล ลีลาการลากเส้นมีลักษณะการลากเส้นเห็นได้ชัดเจนในเช็คพิพาทว่าเนื่องจากการเลียนแบบพันตำรวจเอกจำรัสผู้เชี่ยวชาญพยานจำเลยเบิกความว่าพยานเป็นผู้ตรวจลายมือชื่อในเช็คพิพาทเช่นเดียวกันได้ยอมรับว่า การปลอมโดยเลียนแบบจะเขียนช้า ภาพขยายลายมือชื่อมีลักษณะเขียนช้า ซึ่งแสดงว่ามิใช่ลายมือชื่ออย่างธรรมดาของโจทก์ จากพยานหลักฐานจึงไม่น่าเชื่อว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.9 เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ปัญหาว่าโจทก์จะแกล้งเขียนให้ผิดไปจากลายมือชื่ออย่างธรรมดาหรือไม่นั้น เมื่อคำนึงถึงเหตุผลที่ว่าลายเซ็นชื่อสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ทุกครั้ง โจทก์เคยเซ็น 2 ลายเซ็นเสมอมา ดังปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 – ล.11 ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ระมัดระวังการปลอมอยู่แล้ว ถึงกับต้องเซ็นชื่อสั่งจ่าย 2 ลายเซ็น เพื่อให้การปลอมยากขึ้น โดยเหตุผลแล้วจึงไม่เชื่อว่าโจทก์จะทำขึ้นเองเพื่อฉ้อโกงจำเลย ด้วยเหตุที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีส่วนแตกต่างกับลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ ตามคำเบิกความของพันตำรวจเอกจำรัสพยานจำเลยว่า บัตรตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์มอบให้ธนาคารจำเลยไว้เป็นตัวอย่าง (เอกสารหมาย จ.11)ไม่เหมาะสำหรับการเปรียบเทียบเพราะเขียนผิดเพี้ยนออกไป ดังนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่เหมือนลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายเซ็นที่โจทก์ให้ไว้ต่อธนาคารจำเลย ธนาคารจำเลยเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝาก หรือจากการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาประโยชน์ได้ มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้กับจำเลยหรือไม่หากเห็นว่าลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ จำเลยก็ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share