คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของผู้จะซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เมื่อนำคดีมาสู่ศาลจนศาลพิพากษาให้ผู้จะขายโอนขายที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อขายนั้นแล้ว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ก็อยู่ในฐานะเป็นผู้อันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1300 แล้ว ฉะนั้นถ้าผู้จะขาย ที่ดินนั้นแก่ผู้อื่นไปในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยผู้ซื้อไม่สุจริตแล้ว ผู้จะซื้อก็มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 237, 1300.

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลบังคับจำเลยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ขายที่พิพาทแกโจทก์ ถ้าไม่สามารุขายได้ ก็ให้คืนเงินมัดจำ ๕๐๐ บาท กับใช้คค่าเสียหาย ๑๐๐๐ บาท ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยทั้ง ๒ สมคบกันโดยไม่สุจรืต จึงขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยทั้ง ๒ กับให้ใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเสีย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้การขายระหว่างจำเลยที่ ๑ – ๒ จะไม่สุจริต ก็ตาม แต่โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ก็มีความผูกพันกันเพียงสัญญาซื้อขายเท่านั้น โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะตามมาตรา ๑๓๐๐ จึง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ ๒ ได้รู้อยู่ว่า จำเลยที่ ๑ แพ้คดีของโจทก์ จะต้องโอนขายที่ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา จำเลยที่ ๒ ก็ยังขืนแย่งซื้อ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำนิติกรรมโดยรู้อยู่เต็มใจว่า เป็นการกระทำให้โจทก์เสียเปรียบ ส่วนจำเลยที่ ๒ ผู้ได้ลาภก็รู้เท่าถึงความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคือ โจทก์ต้องเสียหาย ไม่ได้ที่ดินตามคำพิพากษา โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนี้เสียได้ ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๑๓๐๐.
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น

Share