แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ได้รับเช็คของ อ. ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2จำนวน 37 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้และโจทก์ได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า “ข้าพเจ้าในนามบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด ได้รับเช็คจำนวน 37 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,875,557 บาท เพื่อชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.วิศวกรรมการสร้าง สำหรับดอกเบี้ยทางห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.วิศวกรรมการสร้างจะนำมาชำระให้ภายหลังโดยขอเวลาเจรจาอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง” นั้น เมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่าจะนำเช็ค 37 ฉบับไปหักต้นเงินเท่านั้นโจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็ค37 ฉบับไปชำระดอกเบี้ยแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดเครดิตขายลดเช็คกับโจทก์ในวงเงินรวมกัน 3,525,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางแค ลงวันที่ 6 มีนาคม 2527 จำนวนเงิน2,286,211 บาท มาทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้วโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากธนาคารชำระหนี้ตามข้อตกลงใหม่แล้ว โจทก์กลับให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ทวงถามดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม2527 และอ้างว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจะหักต้นเงินที่จำเลยที่ 1ชำระมาไปหักเป็นดอกเบี้ยแทนจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจนำเช็คของนางอารีย์ไปคิดหักดอกเบี้ยหรือคิดหักตามวิธีการของโจทก์จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์จึงนำเช็คของนางอารีย์ไปคิดหักตามวิธีการของโจทก์โดยปราศจากอำนาจ เพราะหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คได้ระงับลงนับแต่โจทก์ได้คืนเช็คของจำเลยที่ 1และรับเช็คของนางอารีย์ไว้แทน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็หลุดพ้นความรับผิดด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้สถาบันการเงินเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาขายลดเช็คยังไม่ระงับสิ้นไป พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์1,557,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่14 กุมภาพันธ์ 2529 จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปโดยให้โจทก์นำเงินผ่อนชำระงวดที่ 18 เป็นเงิน 100,000 บาทและงวดที่ 19 ถึงงวดที่ 34 งวดละ 50,000 บาท และงวดที่ 35 จำนวน57,557 บาท ไปชำระดอกเบี้ยก่อนที่เหลือให้นำไปชำระต้นเงิน ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีสิทธินำเงินตามเช็ค 37 ฉบับ ไปหักออกจากดอกเบี้ยก่อนเพราะโจทก์ได้ยอมรับเอาเช็คทั้ง 37 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดที่ค้างอยู่แล้ว หนี้ต้นเงินจึงย่อมระงับลง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ดอกเบี้ยที่ค้างอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,835,965 บาท นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2527เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2527 แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นอันพับไปทั้งสองศาล
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 1,857,557 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1ได้นำเช็คของนางอารีย์ภรรยาจำเลยที่ 2 จำนวน 37 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวมเป็นจำนวนเงิน 1,857,557 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธินำเช็คทั้ง 37 ฉบับดังกล่าวไปหักชำระหนี้ดอกเบี้ยได้หรือไม่ ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 และนางอารีย์พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้ขายลดเช็คค้างชำระต่อโจทก์เป็นจำนวนเงิน 1,857,557 บาทจึงได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวด้วยเช็คของนางอารีย์จำนวน 37 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,857,557 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเช็คทั้ง 37 ฉบับ ดังกล่าวไว้เป็นการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้วและโจทก์ได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า “ข้าพเจ้าในนามบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด ได้รับเช็คจำนวน 37 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,857,557 บาท เพื่อชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.วิศวกรรมการสร้างสำหรับดอกเบี้ยห้างหุ้นส่วนจำกัดป.วิศวกรรมการสร้าง จะนำมาชำระให้ภายหลังโดยขอเวลาเจรจาอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง” ส่วนโจทก์มีนายอวยชัยผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ตอนที่นำเช็คไปให้มีการตกลงกันว่าเช็ค 37 ฉบับ ให้นำไปหักต้นเงิน ส่วนดอกเบี้ยจะเจรจากันภายหลังปรากฏตามหนังสือรับเช็คเอกสารหมาย จ.8 และเช็คทั้ง 37 ฉบับบางฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็นำเช็คฉบับอื่นมาเปลี่ยนและเรียกเก็บเงินได้ทุกฉบับ อันเป็นการเจือสมกับพยานจำเลยข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้ต้นเงินทุกประการแล้ว และเมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่า จะนำเช็ค 37 ฉบับไปหักต้นเงินเท่านั้น โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็ค 37 ฉบับไปชำระดอกเบี้ยแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน