คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเก้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งเก้าจำนวนคนละ 993,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 6 ถึงแก่ความตาย นางวรรณดี มารดายื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเก้าฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าย่อมมีภาระการพิสูจน์โดยนำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้ได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายอย่างไร โจทก์ทั้งเก้าฎีกาว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้า เนื่องจากจำเลยทั้งสองจัดหาอาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถเป็นเหตุให้ระบบการศึกษาไม่ได้มาตรฐานและคณะกรรมการการอุดมศึกษาชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษา สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) ที่โจทก์ทั้งเก้าสมัครเข้าศึกษา ซึ่งโจทก์ทั้งเก้านำสืบโดยมีตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งเก้าสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) และได้ศึกษาครบทุกวิชา จำเลยที่ 2 ได้ออกหนังสือรับรองเพื่อแสดงว่าโจทก์ทั้งเก้าสอบผ่านหลักสูตร แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ได้เข้ารับการประสาทปริญญาบัตร เนื่องจากมาตรฐานการศึกษาคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) ไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ด้วยเหตุผลว่าอาจารย์ประจำหลักสูตรยังมีความรู้ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจไม่เพียงพอและในการจัดการเรียนการสอนอาจารย์ไม่สามารถยกตัวอย่างหรือประยุกต์การสอนให้เอื้อต่อการใช้งานในธุรกิจได้เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในปรัชญาและหลักการของการจัดการเรียนการศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจและจากการสัมภาษณ์นักศึกษาพบว่ายังขาดความรู้ในสาขาวิชาไม่สามารถตอบคำถามพื้นฐานได้ โครงงานของนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ ไม่แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของนักศึกษาระบบการวัดและประเมินผลไม่เหมาะสมและไม่สะท้อนความรู้ของนักศึกษา เห็นว่า โจทก์ทั้งเก้ามีเพียงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เบิกความเป็นพยานอ้างเอาผลการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาเป็นเหตุผลในการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งเก้า แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเลือกเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาอาจารย์ผู้สอนจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าต้องเสียหาย จากการศึกษาในวิทยาลัยจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไร โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านสรุปรวมได้ว่า คณาจารย์ที่สอนมีความรู้ความสามารถ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ ระหว่างการศึกษาโจทก์ทั้งเก้ามีความรู้ความเข้าใจสามารถนำไปใช้งานได้ และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่าอาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาเป็นผู้มีคุณวุฒิครบถ้วนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งพิจารณาประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าคณาจารย์ผู้สอนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 สรรหาคณาจารย์ประจำหลักสูตรคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ระดับปริญญาตรี (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) โดยยึดหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ย่อมมีมูลเหตุให้จำเลยทั้งสองเชื่อว่าคณาจารย์แต่ละคนที่จัดให้มาประจำวิชามีความรู้ความสามารถที่ในการสอนนักศึกษาได้ การประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษานั้น ได้ความจากจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบเอกสารว่าหลังเปิดการเรียนการสอนแล้วจำเลยที่ 1 ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้ดำเนินการรับรองมาตรฐานคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 แสดงว่าการรับรองมาตรฐานการศึกษาของคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะมีขึ้นหลังจากนักศึกษาได้ศึกษาในหลักสูตรที่เปิดสอนแล้ว มาตรฐานการศึกษาคณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ระดับปริญญาตรี (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) ของจำเลยที่ 1 จะผ่านการรับรองของคณะกรรมการดังกล่าวหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้นแม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตร นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 เรื่องการรับรองมาตรฐานการศึกษา แจ้งว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ ดังนี้ 1. แจ้งรายชื่อพร้อมคุณวุฒิของอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีอยู่ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบเพื่อประกอบการพิจารณา 2. จัดให้อาจารย์ประจำหลักสูตรได้รับความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนในการจัดทำโครงงานเพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถดูแลการจัดทำโครงงานของนักศึกษาอย่างมีคุณภาพ 3. ให้สอนเพิ่มแก่นักศึกษารุ่นที่ขอรับรองมาตรฐานการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาเอกของสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจทุกรายวิชา และ 4. ให้ปรับปรุงแก้ไขโครงงานของนักศึกษาทุกคนใหม่ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำโครงการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษาทันทีโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้วแสดงให้เห็นว่ากระบวนการรับรองมาตรฐานการศึกษาของคณะกรรมการการอุดมศึกษายังไม่เสร็จสิ้นเด็ดขาดเพียงแค่ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะมีความละเอียดรอบคอบในสรรหาคณาจารย์ตามที่เห็นสมควรแล้ว หากต่อมาเมื่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาประเมินแล้วยังไม่พึงพอใจในมาตรฐานการศึกษา ก็อาจยังไม่ให้การรับรองจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาแนะนำ เมื่อโจทก์ทั้งเก้าไม่นำสืบพยานหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อในข้อที่กล่าวอ้างนี้ประการอื่นใด แต่กลับได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้ทำการสอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งเก้าตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share