คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ บ. ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์นำที่พิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ไปขายฝากไว้กับจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ เบื้องต้นต้องถือว่านิติกรรมการขายฝากเป็นโมฆียะ การดำเนินกิจการโรงเรือนราษฎร์ของ บ. ในฐานะเจ้าของและผู้จัดการเป็นกาประกอบการค้าแสวงหากำไร การซื้อที่พิพาาทจาก น. เจ้าของเดิมก็ลงชื่อ บ. แต่ผู้เดียวโดยโจทก์รู้เห็นยินยอม เมื่อซื้อมาแล้วยังได้ใช้ประโยชน์ปลูกสร้างขยายอาคารโรงเรียนลงในที่พิพาทบางส่วนบ. จำต้องหาเงินทุนมาใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียน หนี้จำนองราย อ. บ.ก็เอาที่พิพาทไปจำนองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียน ตามพฤติการณ์จึงแสดงว่ามูลเหตุที่ บ.ต้องไปทำนิติกรรมขายฝากไว้กับจำเลย นอกจากเพื่อให้ได้เงินมาไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นสำคัญแล้ว ยังประสงค์ได้เงินที่เหลือมาสมทบใช้จ่ายในกิจการโรงเรียนด้วย แม้จะถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้อนุญาตให้ บ.ไปทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาทโดยตรง กรณีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้อนุญาตแล้วโดยปริยาย เพราะโจทก์ได้รู้เห้นและมิได้ทักท้วงการทำนิติกรรมจำนองที่พิพาทของ บ. มาก่อน อย่างไรก็ตาม นิติกรรมขายฝากที่พิพาทคงมีผลผูกพันเฉพาะสินบริคณห์ส่วนของ บ. ซึ่งมีอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ในส่วนอีกกึ่งหนึ่งของโจทก์หาจำต้องผูกพันด้วยไม่ นิติกรรมขายฝากที่พิพาทสำหรับสินบริคณห์ส่วนของโจทก์คงตกเป็นโมฆียะเช่นเดิม ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ในอันที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมหรือให้สัตยาบันตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 และ 139 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
ขณะทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาทระหว่าง บ. ภริยาโจทก์กับจำเลยจำเลยทราบดีว่า บ. เป็นหญิงมีสามี ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินได้เตือนให้จำเลยทราบถึงความสามารถบกพร่องชอง บ. ก่อนแล้ว จำเลยยังเสี่ยงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินทำสัญญาขายฝากให้โดยขอยอมรับผิดต่อความเสียหายเอง ข้อที่ว่าโจทก์จะได้ทราบถึงนิติกรรมอันเป็นโมฆียะในระหว่างอายุสัญญาขายฝากหรือไม่ ไม่ใช่เหตุตัดรอนสิทธิของโจทก์ที่จะบอกล้างเพราะสิทธิบอกล้างจะสิ้นไปก็แต่ โดยโจทก์เพิกเฉยไม่บอกล้างเสียภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรืออีกนัยหนึ่งนับแต่วันทราบเรื่องการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143 การบอกล้างของโจทก์ยังไม่เกินกำหนดหนึ่งปี โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ ฉะนั้นนิติกรรมขายฝากที่พิพาทเฉพาะสินบริคณห์ส่วนของโจทก์เมิ่อบอกล้างแล้วย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลบังคับนับแต่วันบอกล้างเป็นต้นไป จำเลยจะถือเอาประโยชน์จากนิติกรรมในส่วนที่ไม่สมบูรณ์นั้นไม่ได้ จะต้องคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ให้โจทก์ไป หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไม่ เพราะโจทก์มีความชอบธรรมที่จะปกป้องหรือขอคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินส่วนตนในทางศาลได้อยู่ ส่วนเงินราคาที่ดินอันจะพึงชดใช้แก้กันเป็นจำนวนเท่าใดนั้น จำเลยมิได้ฟ้องแย้ง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางบัญญัติ ไหลงาม เป็นสามีภริยากัน มีสินบริคณห์ร่วมกันหลายอย่าง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 โดยโจทก์กับนางบัญญัติซื้อที่ดินดังกล่าว มาจากผู้อื่นภายหลังการสมรสแล้วได้ให้นางบัญญัติใส่ชื่อในโฉนด จำเลยกับนางบัญญัติสมคบกันทำนิติกรรมขายฝากขึ้นโดยโจทก์ไม่ทราบ โจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยกับนางบัญญัติ ขอให้จำเลยโอนคืนที่ดินกลับสู่ฐานะเดิมให้โจทก์ จำเลยไม่ยอมโอนคืนที่ดินให้โจทก์ ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 เป็นโมฆะ ให้จำเลยโอนที่ดินกลับคืนสู่ฐานะเดิมของโจทก์โดยให้จำเลยโอนแก้ทะเบียนหลังโฉนดเช่นเดิมก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ถ้าจำเลยไม่สามารถโอนคืนด้วยประการใด ๆ ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับซื้อฝากไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนโจทก์รู้หรือควรจะรู้ถึงการจดทะเบียนการขายฝากของนางบัญญัติแต่ไม่ได้บอกล้างแสดงถึงการสมยอมของโจทก์ นางบัญญัติประกอบอาชีพเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ เป็นเจ้าของและผู้จัดการด้วย โจทก์กับนางบัญญัติแสดงตนให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหย่าร้างกันแล้ว แม้จะยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ก็ตาม โจทก์ก็ได้เชิดนางบัญญัติให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยอิสระ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 8137ฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ระหว่างนางบัญญัติกับจำเลยเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนยังฐานะเดิม จึงให้จำเลยโอนแก้ทะเบียนหลังโฉนดที่ดินให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนวันที่ 13กรกฎาคม 2513 ถ้าจำเลยไม่จัดการโอนคืนให้ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางบัญญัติเมื่อพ.ศ. 2499 ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2509 นางบัญญัติได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 8137 ไว้จากเจ้าของเดิม ในโฉนดคงลงชื่อนางบัญญัติแต่ผู้เดียว โจทก์และนางบัญญัติภริยาได้ร่วมกันตั้งโรงเรียนราษฎร์ นางบัญญัติเป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนเองครั้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 นางบัญญัติก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินโฉนดรายพิพาทได้มาระหว่างโจทก์และนางบัญญัติเป็นคู่สมรสกันอยู่ จึงเป็นสินบริคณห์ การที่นางบัญญัติไปทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยนั้นได้ชื่อว่ากระทำไปโดยพลการ เพราะมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ในเบื้องต้นต้องถือว่านิติกรรมขายฝากที่พิพาทตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 38 การดำเนินกิจการโรงเรียนราษฎร์ของนางบัญญัติในฐานะเจ้าของและผู้จัดการเป็นการประกอบการค้าแสวงหากำไร การซื้อที่พิพาทจากนายนิพันธ์เจ้าของเดิมก็ลงชื่อนางบัญญัติแต่ผู้เดียวโดยโจทก์รู้เห็นยินยอม เมื่อซื้อที่พิพาทมาแล้วยังได้ใช้ประโยชน์ปลูกสร้างขยายอาคารโรงเรียนลงไปในที่พิพาทบางส่วน นางบัญญัติจำต้องหาเงินทุนมาใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียน หนี้จำนองรายนายอนันต์นางบัญญัติก็เอาที่พิพาทไปจำนองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียน ตามพฤติการณ์จึงแสดงว่ามูลเหตุที่นางบัญญัติต้องไปทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยนอกจากเพื่อให้ได้เงินมาไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นสำคัญแล้ว ยังประสงค์ได้เงินส่วนที่เหลือมาสมทบใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนด้วยแม้จะถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้อนุญาตให้นางบัญญัติไปทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาทโดยตรง กรณีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้อนุญาตแล้ว โดยปริยายเพราะโจทก์ได้รู้เห็นและมิได้ทักท้วงการทำนิติกรรมจำนองที่พิพาทของนางบัญญัติมาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม นิติกรรมขายฝากที่พิพาทคงมีผลผูกพันเฉพาะสินบริคณห์ส่วนของนางบัญญัติซึ่งมีอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ในส่วนอีกกึ่งหนึ่งของโจทก์หาจำต้องผูกพันด้วยไม่ นิติกรรมขายฝากที่พิพาทสำหรับสินบริคณห์ส่วนของโจทก์คงตกเป็นโมฆียะอยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ในอันที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมหรือให้สัตยาบันตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 และมาตรา 139 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

อนึ่ง การทำนิติกรรมขายฝากระหว่างนางบัญญัติกับจำเลยปรากฏว่าขณะเข้าทำสัญญาต่อกันนั้น จำเลยทราบดีแล้วว่านางบัญญัติเป็นหญิงมีสามี ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินได้เตือนให้จำเลยทราบถึงความสามารถบกพร่องของนางบัญญัติก่อนแล้ว จำเลยก็ยังเสี่ยงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินทำสัญญาขายฝากให้โดยขอยอมรับผิดชอบต่อความเสียหายเอง โดยเหตุที่โจทก์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะบอกล้างโมฆียกรรมได้สำหรับสินบริคณห์ของโจทก์ดังกล่าวมาแล้ว ข้อที่ว่าโจทก์จะได้ทราบถึงนิติกรรมอันเป็นโมฆียะในระหว่างอายุสัญญาขายฝากหรือไม่ไม่ใช่เหตุตัดรอนสิทธิของโจทก์ว่าบอกล้างไม่ได้ เพราะสิทธิบอกล้างจะสิ้นไปก็แต่โดยโจทก์เพิกเฉยไม่บอกล้างเสียภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรืออีกนัยหนึ่งนับแต่วันทราบเรื่องการทำนิติกรรมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143 ต่างหาก การบอกล้างของโจทก์ยังไม่เกินกำหนดหนึ่งปีโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้โดยชอบ ฉะนั้น นิติกรรมขายฝากที่พิพาทเฉพาะสินบริคณห์ส่วนของโจทก์ เมื่อบอกล้างแล้วย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลบังคับนับแต่วันบอกล้างเป็นต้นไป จำเลยจะถือเอาประโยชน์จากนิติกรรมในส่วนที่ไม่สมบูรณ์นั้นไม่ได้ จำต้องคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ให้โจทก์ไป กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไม่ เพราะเหตุว่าโจทก์มีความชอบธรรมที่จะปกป้องหรือขอคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินส่วนของตนในทางศาลได้อยู่ ส่วนเรื่องเงินราคาที่ดินอันจะพึงชดใช้แก่กันเป็นจำนวนเท่าใดนั้น จำเลยมิได้ฟ้องแย้ง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึง

พิพากษากลับว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 ระหว่างนางบัญญัติ ไหลงาม กับจำเลยลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ไม่มีผลผูกพันที่ดินส่วนที่เป็นสินบริคณห์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้จำเลยจัดการแก้ทะเบียนหลังโฉนดลงชื่อโจทก์หรือนางบัญญัติ ไหลงาม ภริยาโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในสินบริคณห์ส่วนดังกล่าวในโฉนดร่วมกับจำเลยด้วยถ้าจำเลยไม่ไปจัดการด้วยประการใด ๆ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยแทน

Share