คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องโดยอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ น. ทนายโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในคำฟ้อง แม้ในคำฟ้องจะระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นาย ส. ดำเนินคดีแทน แต่เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์เป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งนาย น. เป็นทนายความ พร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ จึงเท่ากับว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยด้วยตนเอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์ จึงเป็นการสั่งโดยเข้าใจผิด คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อโจทก์ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่เพิกถอน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้ตามบทกฎหมายทั่วไป หาใช่ต้องอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้ายไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาผิดสัญญาเรียกทรัพย์คืน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2538 แต่ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2539 ศาลชั้นต้นเห็นว่าศาลรับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้โดยหลงผิด จึงได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกจากสารบบความ และยกคำแถลงขอประกาศหนังสือพิมพ์ของโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 10 มกราคม 2539 ดังกล่าวข้างต้น และมีคำสั่งใหม่เป็นให้รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และมีคำสั่งสำหรับคำแถลงขอประกาศหนังสือพิมพ์ของโจทก์ด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 มกราคม 2539 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 หรือไม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใด การที่ศาลรับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้จึงเป็นการหลงผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เห็นว่าคดีนี้นายนิติ จันทพลาบูรณ์ ทนายโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในคำฟ้อง แม้ในคำฟ้องโจทก์จะระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมเจตต์ วาทีปกรณ์ ดำเนินคดีแทน แต่ปรากฏว่านายเพียร ศิริเกต กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์เป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งนายนิติเป็นทนายความพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ จึงเท่ากับว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยตนเอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมเจตต์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงเป็นการสั่งโดยเข้าใจผิด ไม่ได้สั่งไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามกรณี ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอง คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เมื่อศาลชั้นต้นไม่เพิกถอนโจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้ตามบทกฎหมายทั่วไป หาใช่ต้องอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ เมื่อฟังได้ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงสมควรเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 10 มกราคม 2539 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share