คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4219/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านกับผู้ถือหุ้นมีหุ้นรวมกันเกินกว่า1 ใน 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ และเกินกว่า 1 ใน 5แห่งจำนวนหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ได้ร่วมกันเข้าชื่อทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น โดยระบุวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ รวม6 วาระด้วยกัน จึงเป็นการเรียกประชุมที่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 แล้วกรรมการบริษัทจึงต้องปฏิบัติตามคือ ต้องเรียกประชุมโดยพลันจะไม่เรียกประชุมไม่ได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 1174 เป็นบทบังคับให้ต้องปฏิบัติ และไม่ได้ให้สิทธิกรรมการที่จะใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่ากรรมการไม่เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านกับพวกผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นรวมกันเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทย่อมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกันเองได้ การที่ ผู้คัดค้านกับมีหนังสือเชิญผู้ถือหุ้นของบริษัทประชุมวิสามัญจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคสองกรณีไม่จำต้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนที่ขอให้เรียกประชุมร่วมเรียกประชุมด้วย เมื่อการประชุมมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมอันมีจำนวนหุ้นเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทที่ประชุมซึ่งปรึกษากิจการใด ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1178 และการประชุมวิสามัญดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทแล้ว ดังนั้น มติของที่ประชุมจึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนหาได้ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บริษัทมิตรกงไกรลาศ จำกัดเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการ 5 คน คือ ผู้ร้องเป็นประธานกรรมการผู้คัดค้านเป็นกรรมการผู้จัดการ นายลิ่ม แซ่บ้างนายเสงี่ยม กลิ่นลูกอินทร์ และนายบัณฑิตย์ บุตรทิพย์สกุลเป็นกรรมการ ขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537 ที่ผู้คัดค้านกับผู้ถือหุ้นมีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2537 ถึงคณะกรรมการบริษัทให้เปิดประชุมวิสามัญครั้งที่ 1
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นรวม24 คน รวมเป็นจำนวนหุ้น 4,345 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด99 คน และจำนวนหุ้นทั้งหมด 6,000 หุ้น มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัทให้เรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537แต่ผู้ร้องกับกรรมการอื่นอีก 3 คน รับหนังสือดังกล่าวแล้วหาได้เรียกประชุมโดยพลันไม่ ผู้คัดค้านกับนางจุรี ด่านกิตติไกรลาศผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทจึงร่วมกันเข้าชื่อมีหนังสือลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2537 ถึงผู้ถือหุ้นทุกคน เรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 การประชุมวิสามัญดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าบริษัทมิตรกงไกรลาศ จำกัด มีผู้ถือหุ้นจำนวน 99 คน และมีหุ้นจำนวน 6,000 หุ้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2537 ผู้คัดค้านกับผู้ถือหุ้นรวม 24 คน รวมจำนวนหุ้นได้ 4,345 หุ้น ร่วมกันมีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการบริษัทนัดเรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ 1ประจำปี พ.ศ. 2537 แต่คณะกรรมการบริษัทไม่ยอมเรียกประชุมต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2537 ผู้คัดค้านกับนางจุรี ด่านกิตติไกรลาศซึ่งมีหุ้นรวมกัน 3,700 หุ้น ร่วมกันมีหนังสือถึงผู้ถือหุ้นทุกคนนัดประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 ถึงวันนัดมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 25 คนมีจำนวนหุ้นรวมกัน 4,910 หุ้น ผลการประชุมปรากฏตามสำเนารายงานการประชุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537 ของบริษัทดังกล่าวชอบหรือไม่เห็นว่า ข้อบังคับของบริษัท เรื่องการประชุมใหญ่ ข้อ 19 ระบุว่า”การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น มี 2 ชนิด คือ (1) การประชุมสามัญให้มีปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยคณะกรรมการเป็นผู้นัดประชุม (2) การประชุมวิสามัญให้มีเมื่อบริษัทมีกิจการสำคัญที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและจำเป็น หรือมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอก็ให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น”และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 บัญญัติว่า”การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้นในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด”มาตรา 1174 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญดังได้กล่าวมาในมาตราก่อนนี้แล้วให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้ากรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้องไซร้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร้องหรือผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆรวมกันได้จำนวนดังบังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้” ตามข้องบังคับของบริษัทและบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นย่อมกระทำได้ โดยผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทร่วมกันร้องขอให้คณะกรรมการบริษัทเรียกประชุมได้ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านกับผู้ถือหุ้นรวม 24 คน มีหุ้นรวมกัน 4,345 หุ้น ซึ่งเกินกว่า1 ใน 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ 99 คน และเกินกว่า 1 ใน 5แห่งจำนวนหุ้นที่มีอยู่ 6,000 หุ้น ร่วมกันเข้าชื่อทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นโดยระบุวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ รวม 6 วาระ จึงเป็นการเรียกประชุมที่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทข้อ 19(2) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 กรรมการบริษัทจึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคแรกคือ ต้องเรียกประชุมโดยพลัน จะไม่เรียกประชุมไม่ได้เพราะบทบัญญัติมาตรานี้เป็นบทบังคับไม่ได้ให้สิทธิกรรมการที่จะใช้ดุลพินิจ ฉะนั้น เมื่อกรรมการไม่เรียกประชุมภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านกับนางจุรี ด่านกิตติไกรลาศซึ่งมีหุ้นรวมกัน 3,700 หุ้น เกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทย่อมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกันเองได้ การที่ผู้คัดค้านกับนางจุรีมีหนังสือเชิญผู้ถือหุ้นของบริษัทประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2537 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1174 วรรคสอง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนที่ขอให้เรียกประชุมร่วมเรียกประชุมด้วย เมื่อการประชุมมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุม 25 คน รวมจำนวนหุ้น 4,910 หุ้นอันมีจำนวนหุ้นเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทที่ประชุมจึงปรึกษากิจการใด ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1178 ฉะนั้น การประชุมวิสามัญที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2537ของบริษัทมิตรกงไกรลาศ จำกัด จึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท มติของที่ประชุมตามรายงานการประชุมจึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share