แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยผู้เช่าซื้อเพื่อให้จำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ รวมทั้งให้จำเลยสามารถขับรถยนต์นั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการให้จำเลยผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 537 และ 546 โจทก์จึงมีหน้าที่ในการจัดการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์ที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ให้ถูกต้อง เพื่อให้จำเลยสามารถใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้โดยไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย เมื่อจำเลยแจ้งให้โจทก์จัดการทะเบียนแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่นั้นจำเลยย่อมมิใช่ฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 213,012 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เป็นเวลา36 เดือน เดือนละ 5,917 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 23 โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุดและนำออกประมูลขายแล้วยังขาดราคารถยนต์อยู่อีกเป็นเงิน 44,500 บาทและโจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ไปให้บุคคลอื่นเช่าเดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 13 เดือน เป็นเงิน 52,000 บาทและในการทวงถามติดตามและสืบหารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 2,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินรวมจำนวน 98,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์หลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมีสภาพใช้การได้ดี แต่หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 นำรถยนต์มาใช้งานได้เพียง 7 วันเครื่องยนต์ก็ใช้การไม่ได้ จึงส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ซ่อม โจทก์เปลี่ยนเครื่องยนต์ให้โดยนำเครื่องยนต์ที่ไม่ได้เสียภาษีมาใส่แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนเครื่องยนต์ต่อเจ้าพนักงานได้โจทก์คิดค่าเปลี่ยนเครื่องยนต์จากจำเลยที่ 1เป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยประกันให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำรถยนต์ไปเอาประกันภัยไว้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 20,925บาท หลังครบอายุประกันภัยจำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยประกันให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้และส่งเช็คของจำเลยที่ 1 คืนอ้างว่าเลขเครื่องยนต์ไม่ตรงกับทะเบียนรถยนต์ จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์แก้ไข แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดวันที่ 15 สิงหาคม 2535 และแจ้งให้โจทก์มารับรถยนต์กลับคืนไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน58,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่ในการจัดการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูมิชิจากโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมรถยนต์ที่เช่าซื้อได้เอามีประกันวินาศภัยไว้หลังจากเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ได้เพียง 7 วัน เครื่องยนต์เสียใช้งานไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงส่งรถยนต์คืนให้โจทก์ โจทก์นำไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่โดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 1 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 โจทก์มิได้แจ้งเจ้าพนักงานเพื่อให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนเลขเครื่องยนต์ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้และได้ชำระค่าเช่าซื้อกับเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์ตลอดมาจนกระทั่งรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุชนกัน จำเลยที่ 1 จึงส่งรถยนต์ไปให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด ผู้รับประกันภัยซ่อม แต่บริษัทดังกล่าวไม่ยอมชำระให้โดยอ้างว่าหมายเลขเครื่องยนต์ไม่ตรงกับที่ทำสัญญาประกันภัยไว้จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าโจทก์มิได้แจ้งขอเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์จัดการจดทะเบียนแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์ให้ถูกต้องหลายครั้งแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่15 สิงหาคม 2535 และแจ้งให้โจทก์รับรถยนต์กลับคืนไปเมื่อวันที่14 กันยายน 2536 เห็นว่า โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อรวมทั้งให้จำเลยที่ 1 สามารถขับรถยนต์นั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อด้วยทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 572 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 537และ 546 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมีหน้าที่ในการจัดการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์ที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ให้ถูกต้องเพื่อให้จำเลยที่ 1 สามารถใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้โดยไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1แจ้งให้โจทก์จัดการทะเบียนแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2535 ดังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจำเลยที่ 1 ย่อมมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน