คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วันตามมาตรา 1728 หากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ อ. จำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิใช่เพื่อจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทของ อ.แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์มอบให้ไว้ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง อีกทั้งก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาทกันจำเลยที่ 1 และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าทายาทของ อ. ไม่ต้องการให้ขายที่ดินแปลงพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ อ.ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ กับได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.และศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ เมื่อมิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน โดยไม่สุจริต นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปรับเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 และมาตรา 1740 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่ผูกพันทายาทของ อ. โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกนายโอภาส วัลลิภากรตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1735/2531 วันที่ 28 มกราคม 2532จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายโอภาสโฉนดเลขที่ 203เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา โดยจะขายให้แก่โจทก์ในราคา 10,000,000 บาท โจทก์จ่ายเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1ในวันทำสัญญา 3,800,000 บาท ราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีก6,200,000 บาท โจทก์ตกลงชำระในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2532 ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมคืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับเป็นเงิน 10,000,000 บาททั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาถ้าโจทก์ผิดสัญญายอมให้จำเลยที่ 1 ปรับเป็นเงิน 3,000,000 บาทปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2533ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกนายโอภาส และตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทนโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับตามสัญญา ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 203 ให้แก่โจทก์ตามสัญญา
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโอภาส วัลลิภากร จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 203 ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 6,200,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2ในการจดทะเบียน ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกชำระค่าเสียหาย(เบี้ยปรับ) เป็นเงิน 300,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายโอภาส วัลลิภากรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายกันในคดีนี้ได้ถึงแก่กรรมนางเทวี วัลลิภากร ซึ่งเป็นภริยาคนหนึ่งของนายโอภาสได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องของนายโอภาส แต่มิใช่ทายาทเป็นผู้จัดการมรดกของนายโอภาสและเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1ซึ่งถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 22 พฤศจิกายน2531 เป็นผู้จัดการมรดกของนายโอภาส ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2531จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมของนายโอภาสได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 203ต่อมาในวันที่ 24 มกราคม 2532 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกแทน แต่จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินมรดกของนายโอภาสดังกล่าวไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ในวันที่ 28 มกราคม 2532และกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2532เมื่อถึงกำหนดวันโอน จำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกแทน สำหรับคดีล้มละลายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 17 มกราคม 2532 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ และอนุญาตให้โจทก์ในคดีล้มละลายถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิขายทรัพย์ได้เพราะเป็นกิจการภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกนั้นเห็นว่า กรณีของจำเลยที่ 1 ที่ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 นี้ ไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 1736 และมาตรา 1740 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 แต่อย่างใด คงต้องพิจารณาตามมาตรา 1724 เท่านั้นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกในวันที่ 2 ธันวาคม 2531 แล้ว จำเลยที่ 1 มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน ตามมาตรา 1728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนายโอภาส หากจำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันด้วย จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้ แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิได้แสดงให้เห็นว่าจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทของนายโอภาส แต่กลับปรากฏว่ามีเงินจำนวน 440,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น จำเลยที่ 1 ได้นำไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง และจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่โจทก์ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะมีการทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 ทั้งยังปรากฏว่าก่อนทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ก็ทราบว่า จำเลยที่ 2ได้ขออายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้น โดยจำเลยที่ 1 ได้เขียนจดหมายลงวันที่ 21มกราคม 2532 ถึงพี่ชายของจำเลยที่ 1 ให้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่โจทก์ในการพาช่างไปดูที่ดินที่จะขายนั้น และได้บอกให้ทราบด้วยว่าจำเลยที่ 2 ได้อายัดที่ดินไว้ ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าก่อนทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 ในวันที่ 28 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนายโอภาสไม่ต้องการให้ขายที่ดินนั้น โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2531 ทั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งแต่วันที่ 24มกราคม 2532 จึงเป็นที่เห็นโดยแจ้งชัดว่า การที่จำเลยที่ 1นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายโอภาสไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 มิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายโอภาส ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่สุจริตอีกด้วย ฉะนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5จึงไม่ผูกพันทายาทของนายโอภาส โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.5 ได้
พิพากษายืน

Share