แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๕๐
วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นายนริศ กิจวรเมธา ที่ ๑ นายบุ้นหยู แซ่เซียว ที่ ๒ นายพิพิธ ลือชาทร ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายนิคม เพ็งไธสง ที่ ๑ นายสมาน เพ็งไธสง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๑๖๘/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ โดยทุจริตร่วมกันออกเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน (น.ส. ๓) ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ และหมู่ ๒๓ ตำบลช่องแมว อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ให้กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รวมจำนวน ๒๘ แปลง โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ออกเอกสารสิทธิโดยรู้อยู่ว่าไม่มีที่ดินอยู่จริงและออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ นำเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กู้ยืมเงิน และรับจดทะเบียนจำนองเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าไม่มีที่ดินอยู่จริง ต่อมาจำเลยที่ ๔ ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดังกล่าวต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๗/๒๕๒๓ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระหนี้ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาด (ที่ถูกต้องคือ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์) วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๔ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมายึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาด ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวไม่มีอยู่จริง และเอกสารสิทธิออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒ โจทก์ทั้งสามได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดในราคา ๒,๐๖๘,๐๐๐ บาท โดยวางมัดจำไว้จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวชอบแล้ว หลังจากนั้น โจทก์ทั้งสามได้ติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมาเพื่อรับโอนที่ดินที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาด แต่ไม่สามารถจดทะเบียนรับโอนที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินทั้งหมดได้ออกเอกสารสิทธิโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือ เอกสารสิทธิบางแปลงไม่มีในสารบบของสำนักงานที่ดิน และบางแปลงไม่ใช่ชื่อของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดิน แต่เป็นชื่อของผู้อื่น จากการสอบถามได้ความจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ผู้ออกเอกสารสิทธิดังกล่าวคือ นายพิน คำโพธิ์ ออกเอกสารสิทธิไปโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายและถูกสอบสวนและให้ออกจากราชการไปแล้ว โจทก์ทั้งสามเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่สามารถจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส. ๓ จำนวน ๒๘ แปลง ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่โจทก์ทั้งสามซื้อได้มาจากการขายทอดตลาด ทำให้ขาดประโยชน์อันควรได้จากการขายที่ดินดังกล่าว จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสาม และกรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ทั้งสามจะต้องใช้สิทธิทางศาล ในทางแพ่งเป็นคดีนี้ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงบุคคลภายนอก ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ ดังกล่าว จึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ในที่ดินเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวจากจำเลยที่ ๓ ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะอ้างมูลละเมิดดังกล่าวและจำเลยที่ ๓ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กล่าวคือ เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าว ที่ออกโดยสำนักงานที่ดิน อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ในอำนาจของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาชุมพวง) เป็นการออกเอกสารที่แสดงสิทธิครอบครองการทำประโยชน์ที่ดิน ซึ่งการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ย่อมมีผลตามกฎหมายตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงถือว่าเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าวยังคงเป็นหนังสือแสดงสิทธิครองครองทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาชุมพวง หรือจำเลยที่ ๓ มิได้เคยมีคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอนเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ประกอบกับในการซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด โจทก์ทั้งสามทำสัญญาซื้อขายที่ดินโดยมีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ ๕ กำหนดว่า หากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ เพราะที่ดินนั้นไม่ใช่ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หรือเพราะเหตุอื่นๆ และศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีได้ชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวแล้ว สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะเป็นอันยกเลิกไป ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลจังหวัดนครราชสีมาที่มีอำนาจในการบังคับคดียังมิได้ชี้ขาดว่าที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดังนั้น จึงถือว่าสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลย่อมต้องมีหน้าที่ยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดนครราชสีมา สาขาชุมพวง เพื่อขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนสิทธิและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวให้บริบูรณ์ตามมาตรา ๗๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมาตรา ๑๒๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่โจทก์ทั้งสามหาได้เคยยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาชุมพวง แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าว จึงถือว่ามีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้เอง หากโจทก์ทั้งสามไปดำเนินการยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้ว ปรากฏภายหลังว่าไม่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสาม จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลอันเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองต่อไป จำเลยที่ ๓ จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ ๓ เป็นคดีนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ได้รับความเสียหายและไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ กล่าวคือ คดีนี้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมา หมายเลขแดงที่ ๑๑๗/๒๕๒๓ ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นายนิคม เพ็งไธสง ที่ ๑ กับพวก โดยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทในราคา ๒,๐๖๘,๐๐๐ บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้เนื่องจาก น.ส. ๓ ที่ดินแปลงพิพาทเป็นเอกสารปลอมโดยเจ้าพนักงานทุจริต ซึ่งโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาททั้งหมดและขอให้คืนเงินจากการซื้อทรัพย์พิพาท โดยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๓๒/๒๕๓๓ มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทรัพย์ที่ดินพิพาททั้งหมดและให้คืนเงินราคาที่ดินพิพาททั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเงินจากการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน ๒,๐๖๘,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสามได้รับคืนแล้วจึงไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการฟ้องซ้ำ อนึ่ง จำเลยที่ ๔ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม แต่อยู่ในฐานะผู้สุจริตและได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ได้ขอสินเชื่อและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ ๔ สาขานครราชสีมา ในวงเงินกู้ ๙๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๗๓, ๔๖, ๗๘, ๙๓, ๑๒๕, ๑๖๐, ๑๗๔, ๒๘๒ ถึง ๒๙๑, ๒๙๓, ๒๙๔ ตำบลช่องแมว อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘, ๕๕, ๑๐๓, ๑๑๙, ๑๒๔, ๑๓๖, ๑๔๐, ๑๕๙, ๑๗๓, ๒๔๘, ๒๕๗, ๒๗๓ ตำบลช่องแมว อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจำเลยที่ ๔ ได้พิจารณาสินเชื่อตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของจำเลยที่ ๔ ตามขั้นตอนทุกประการและใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานในการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยครบถ้วน จำเลยที่ ๔ ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินดังกล่าวทั้งหมดที่จำเลยที่ ๔ รับจำนองไว้นั้น เกิดจากการร่วมกันทุจริตระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ ๔ จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๔/๒๕๒๓ คดีถึงที่สุดเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๗/๒๕๒๓ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระหนี้ให้จำเลยที่ ๔ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนอง ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อทรัพย์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า น.ส. ๓ ดังกล่าวทั้งหมดออกทับที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาทางราชการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและจัดสรรให้ราษฎรทำกินแล้ว น.ส. ๓ ทั้งหมด จึงเป็นเอกสารปลอม ศาลจึงมีคำสั่งเพิกถอนการขายทรัพย์พิพาทและโจทก์ทั้งสามได้รับเงินคืนตามราคาในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ ๔ เพิ่งทราบว่า น.ส. ๓ เป็นเอกสารสิทธิปลอมเมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทรัพย์พิพาท โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ เนื่องจากโจทก์ทั้งสามได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทคืนแล้ว จึงไม่มีความเสียหายอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มูลคดีเกิดจากการกระทำทุจริตของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ออกเอกสารสิทธิและเอกสารราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนโดยไม่สุจริต ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบออก น.ส. ๓ ให้กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้กับจำเลยที่ ๔ แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ ๔ จึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาให้ชำระหนี้และบังคับจำนองตามฟ้อง จำเลยที่ ๔ จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต แต่ไม่อาจรับโอนที่ดินได้ ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ ๓ มูลคดีในส่วนนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มูลคดีดังกล่าวนี้โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิที่ดินหรือ น.ส. ๓ ทั้งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินเพื่อขายทรัพย์แทนลูกหนี้จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้นำยึดที่ดินให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่งดังกล่าวซึ่งจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยชอบหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ออก น.ส. ๓ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายนั้น เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการออก น.ส. ๓ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และการออก น.ส. ๓ ของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ในคดีนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ ว่า เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการออก น.ส. ๓ ดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การออก น.ส. ๓ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และในปัญหาว่าการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการกระทำทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยไปถึงประเด็นในเรื่องสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ โจทก์ทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันและหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาล ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสี่ อันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ โดยทุจริตร่วมกันออกเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน(น.ส. ๓) ให้แก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ แล้วนำเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ ๔ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๔ รู้ว่าไม่มีที่ดินอยู่จริง ต่อมาจำเลยที่ ๔ ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระหนี้หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินออกขายทอดตลาด (ที่ถูกต้องคือ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์) ต่อมาจำเลยที่ ๔ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมายึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาด ทั้งที่รู้ว่าไม่มีที่ดินอยู่จริงและเอกสารสิทธิออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวชอบแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงดำเนินการขอจดทะเบียนรับโอนที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนรับโอนที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินทั้งหมดออกเอกสารสิทธิ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เอกสารสิทธิบางแปลงไม่มีในสารบบของสำนักงานที่ดินและบางแปลงไม่ใช่ชื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดิน แต่เป็นชื่อของผู้อื่น โจทก์ทั้งสามเห็นว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทำให้ได้รับความเสียหายไม่สามารถจดทะเบียนใส่ชื่อเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส. ๓ และขาดประโยชน์อันควรได้จากการขายที่ดิน ขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิด โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับความเสียหายและไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะอ้างมูลละเมิดเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาชุมพวง หรือจำเลยที่ ๓ ไม่เคยมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน น.ส. ๓ ทั้ง ๒๘ แปลงดังกล่าวจึงยังเป็นเอกสารสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน สัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส. ๓ ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยกเลิก โจทก์ทั้งสามไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ หากโจทก์ทั้งสามดำเนินการยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้วปรากฏภายหลังว่า ไม่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลอันเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองต่อไป จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับความเสียหายและไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาททั้งหมดและขอให้คืนเงินจากการซื้อทรัพย์พิพาทแล้ว ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายที่ดินพิพาททั้งหมดและให้คืนเงินราคาที่ดินพิพาททั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามได้รับคืนแล้วจึงไม่มีความเสียหายการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการฟ้องซ้ำ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๔ ได้พิจารณาสินเชื่อตามระเบียบและวิธีปฏิบัติทุกประการ และใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานในการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยครบถ้วน จำเลยที่ ๔ ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินดังกล่าวทั้งหมดที่จำเลยที่ ๔ รับจำนองไว้นั้นเกิดจากการร่วมกันทุจริตระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ ๔ จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า น.ส. ๓ ดังกล่าวทั้งหมด เป็นการออกทับที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินและจัดสรรให้ราษฎรทำกินแล้ว น.ส. ๓ ทั้งหมดจึงเป็นเอกสารปลอม ศาลจึงมีคำสั่งเพิกถอนการขายทรัพย์พิพาทและโจทก์ทั้งสามได้รับเงินคืนตามราคาในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ ๔ เพิ่งทราบว่า น.ส. ๓ เป็นเอกสารสิทธิปลอมเมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทรัพย์พิพาท โจทก์ทั้งสามได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทคืนแล้วจึงไม่มีความเสียหายอีก ดังนั้น มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. ๓ ได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ โดยรู้อยู่ว่าไม่มีที่ดินอยู่จริงและออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายที่ดินให้อำนาจไว้ และถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนริศ กิจวรเมธา ที่ ๑ นายบุ้นหยู แซ่เซียว ที่ ๒ นายพิพิธ ลือชาทร ที่ ๓ โจทก์ นายนิคม เพ็งไธสง ที่ ๑ นายสมาน เพ็งไธสง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๘