แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งระบุให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน รวมทั้งบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนอง มีข้อความว่า จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไว้ชัดเจนแล้ว การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า ตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1747 ตำบลวัดสุวรรณ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 5,783,869.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาจำนอง แต่คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้ทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2534 และจากต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 สิงหาคม 2540) ต้องไม่เกิน 2,783,869.86 บาท หากไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1747 ตำบลวัดสุวรรณ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 1893 ตำบลวัดสุวรรณ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินรายนี้ด้วย ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2534 จำเลยได้ตกลงเพิ่มเงินที่จำนองอีก 2,000,000 บาท เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นตลอดจนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามสัญญาจำนองเดิม รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่ง เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ข้อนี้ปรากฏตามหนังสัญญาจำนองที่ดิน เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และตามข้อ 1 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์นั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินไปกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อหนังสือสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่ง เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 มีข้อความว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไว้ชัดเจนแล้ว การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า ตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามหนังสือสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน