คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 889/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นเพียงบริษัทที่มีวัตถุประสงค์นำรถจักรยานยนต์ออกให้เช่าซื้อเท่านั้น เมื่อผู้นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำผิดคือจำเลยที่ 2 เพื่อนของบุตรชาย พ.ผู้เช่าซื้อซึ่งได้ยืมรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิดโจทก์เองก็นำสืบไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ส่วนการที่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบจักรยานยนต์ของกลางแล้วผู้ร้องยังรับชำระค่าเช่าซื้ออีก 9 งวดนั้น ก็เป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะรับชำระค่าเช่าซื้อไว้ ผู้ร้องไม่จำเป็น ที่จะต้องบอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถจักรยานยนต์ ของกลางคืน และมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนได้ จะถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และผู้ร้องมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง ซึ่งได้ให้นายพงศ์วุฒิเช่าซื้อไปในราคา 51,313.80 บาท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537ตกลงชำระเงินในวันทำสัญญา 6,172.90 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,504.67 บาท กับภาษี 105.33 บาทรวมทั้งสิ้น 1,610 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 1 เมษายน 2537งวดต่อไปทุกวันที่ 1 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 2กับพวกนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2กับพวกและยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกและสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่6 ธันวาคม 2537 นายพงศ์วุฒิชำระค่าเช่าซื้อรวม 17 งวดแล้วไม่ชำระอีก ผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538บอกเลิกสัญญากับนายพงศ์วุฒิและให้นายพงศ์วุฒิส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อคืน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2หรือไม่ เห็นว่า บริษัทผู้ร้องเป็นเพียงบริษัทที่มีวัตถุประสงค์นำรถจักรยานยนต์ออกให้เช่าซื้อเท่านั้น และคดีนี้ผู้ที่นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำผิดคือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพื่อนของบุตรชายนายพงศ์วุฒิผู้เช่าซื้อซึ่งได้ยืมรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิด โจทก์เองก็คงมีแต่ร้อยตำรวจโทเติมรัศมิ์จินดาวัฒน์ มาเบิกความเพียงว่า จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์พิพาทไปใช้ในการแข่งรถ โดยไม่ปรากฏเลยว่า บริษัทผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดส่วนการที่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางแล้วผู้ร้องยังรับชำระค่าเช่าซื้ออีก 9 งวดนั้นก็เป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะรับชำระค่าเช่าซื้อไว้ ผู้ร้องไม่จำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางคืน ต่อเมื่อมีการผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางคืนและมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนได้จะถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 5 ย-7209 ของกลางแก่ผู้ร้อง

Share