คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล กรอกรายการเพิ่มขึ้นในใบสำคัญคู่จ่ายค่าอาหารเลี้ยงนักเรียน มีจำนวนสูงกว่าหลักฐานการเบิกเงินของแม่ครัว เนื่องจากการที่จำเลยสั่งซื้ออาหารเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอรับประทาน เป็นการกรอกเพิ่มขึ้นเพื่อให้จำนวนเงินตรงกับที่จ่ายไปจริงหาได้มีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังเอาเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นไม่ และไม่เป็นการทำเอกสารเท็จหรือรับรองข้อความอันเป็นเท็จอันจะเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,162

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 162 ลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทหนัก จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 11 กระทง เป็นโทษจำคุก 55 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม มาตรา 78 จำคุก 36 ปี 8 เดือนคำขอให้ชดใช้เงินคืนให้ยก โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าระหว่างปี พ.ศ. 2508 ถึง 2512 อันเป็นวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในคดีนี้ จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลอุทัยธานี ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 180-200 คน ทางโรงเรียนได้เรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากนักเรียนคนละ 150 บาท ต่อหนึ่งภาคการศึกษา เพื่อไว้ใช้จ่ายประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียน จำเลยที่ 1 ในฐานะครูใหญ่ มีหน้าที่รับ เบิกจ่าย ครอบครองดูแลรักษาเงินดังกล่าวโดยมีอำนาจเก็บรักษาเงินไว้ได้ไม่เกิน 10,000 บาท และมีอำนาจจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ 241/2507 และเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว จะต้องรวบรวมหลักฐานการจ่ายนั้นไว้ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบได้ทุกขณะ ทั้งนี้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยรับจ่ายเงินบำรุงการศึกษา พ.ศ. 2507 อหารที่จัดเลี้ยงนักเรียนนั้นมีอาหารว่างตอนเช้า อาหารกลางวันและอาหารว่างตอนบ่าย การประกอบอาหารเป็นหน้าที่ของนางวิไล ศรีทัยแม่ครัวของโรงเรียนที่จะขอเบิกเงินไปจ่ายซื้อาหารสดมาประกอบ โดยต้องจัดทำรายการอาหารเสนอขออนุมัติครูเวรล่วงหน้า 1 วัน เมื่อได้มีการจัดซื้ออาหารแล้ว จำเลยที่ 1 จะจัดทำใบสำคัญคู่จ่ายไว้เพื่อให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบต่อไป ปรากฏว่าใบสำคัญคู่จ่ายค่าอาหาร ซึ่งจำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2508 จำนวน 20 ฉบับ และในปี พ.ศ. 2511 จำนวน 20 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ป.43 ถึง ป.82 มีจำนวนเงินที่จ่ายไปสูงกว่าจำนวนเงินตามหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไล ศรีทัย แม่ครัวตามเอกสารหมาย ป.3 ถึง ป.42 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 9.178 บาท จึงได้มีการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่โดยเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวและทำเอกสารใบสำคัญคู่จ่ายอันเป็นเท็จคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ในการประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียนนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นครูใหญ่ แม้นางวิไล ศรีทัย แม่ครัวของโรงเรียนจะมีหน้าที่ประกอบอาหารโดยขอเบิกเงินไปซื้ออาหารสดมาจัดทำเอง ความรับผิดชอบก็ยังไม่พ้นไปจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องดูแลจัดหาอาหารให้เพียงพอแก่นักเรียน ที่นางวิไล ศรีทัย จัดทำรายการอาหารเสนอขออนุมัติครูเวรล่วงหน้า 1 วัน เพื่อขอเบิกเงินไปจับจ่ายซื้ออาหารสดนั้น หลักฐานการเบิกเงินดังกล่าวหาใช่ใบสำคัญคู่จ่ายตามระเบียบราชการแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นเพียงหลักฐานภายในของโรงเรียนซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่อควบคุมการจ่ายเงินของแม่ครัวผู้ประกอบอาหาร และจำนวนเงินที่แม่ครัวขอเบิกไปก็มิได้แสดงว่าค่าอาหารที่แท้จริงมีเพียงเท่านั้น ดังที่นางปราณี นวะมะวัฒน์ นางเพ็ญพัฒน์ ภูมี และนางจริยา เตโชชัยวุฒิพยานโจทก์ซึ่งเป็นครูอยู่ในโรงเรียนอนุบาลอุทัยธานีร่วมกับจำเลยที่ 1เบิกความว่า วันใดอาหารไม่พอให้นักเรียนรับประทาน จำเลยที่ 1 ก็จะสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก ซึ่งมีทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จ การซื้ออาหารเพิ่มเติมนั้นไม่ได้ทำหลักฐานไว้ นอกจากนี้นางวิไล ศรีทัย พยานโจทก์ยังเบิกความว่ารายการอาหารที่เสนอขออนุมัติครูเวรเบิกเงินไปซื้อนั้น อาจมีการแก้ไขบ้างเพราะบางครั้งอาหารที่เสนอไม่มี จำเป็นต้องเปลี่ยนเอาของอย่างอื่นแทนตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไล ศรีทัยไม่จำต้องมีจำนวนเงินตรงกับใบสำคัญคู่จ่ายซึ่งเป็นหลักฐานการจ่ายเงินค่าอาหารที่แท้จริงเสมอไป เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้ออาหารเพิ่มเติม ก็จำเป็นที่จะต้องกรอกจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าอาหารลงไว้ในใบสำคัญคู่จ่ายสูงกว่าจำนวนเงินในหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไล ศรีทัย ในการทำใบสำคัญคู่จ่ายนั้นมีจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลล่างพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดไปแล้วลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงินด้วย หาใช่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นโดยลำพังไม่ นางวิไลศรีทัย พยานโจทก์เบิกความว่า ในเดือนหนึ่ง ๆ มีการสั่งซื้ออาหารเพิ่มเติมประมาณ 2-3 ครั้ง ครั้งละอย่างสูงไม่เกิน 100 บาท แต่ก็เป็นเพียงการกะประมาณเอา ทั้งการซื้ออาหารเพิ่มเติมนั้น จำเลยที่ 1 อาจซื้อด้วยตนเองหรือให้บุคคลอื่นไปซื้อแทนก็ได้ ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลอุทัยธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508ถึง 2512 รวม 5 ปี ปรากฏว่าใบสำคัญคู่จ่ายที่มีจำนวนเงินสูงกว่าหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไล ศรีทัย คงมีเฉพาะในปี พ.ศ. 2508 จำนวน 20 ฉบับ และในปี พ.ศ. 2511 จำนวน 20 ฉบับ ซึ่งถ้าถัวเฉลี่ยเป็นรายเดือนเฉพาะเดือนที่เปิดภาคการศึกษา ก็จะตกประมาณเดือนละ 2-3 ฉบับ หรือมีการจ่ายเงินซื้อาหารเพิ่มเติมประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง ตรงตามคำนางวิไล ศรีทัย พยานโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่ามีการทำใบสำคัญคู่จ่ายที่มีจำนวนเงินสูงกว่าหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไลศรีทัย เฉพาะบางเดือน ก็อาจเป็นเพราะจำเลยที่ 1 จ่ายเงินไปก่อน แล้วมาทำใบสำคัญคู่จ่ายชดเชยในภายหลัง เพื่อให้ยอดเงินคงเหลือตรงตามความจริง ทั้งจำนวนเงินที่จ่ายเพิ่มเติมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,178 บาทก็มิใช่จำนวนมากมายอะไร จำเลยที่ 1 รับราชการมานานปีจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นครูใหญ่ คงจะไม่กล้ากระทำทุจริตโดยเห็นแก่เงินเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ที่ใบสำคัญคู่จ่ายตามเอกสารหมาย ป.43 ถึง ป.82 มีจำนวนเงินสูงกว่าหลักฐานการเบิกเงินของนางวิไล ศรีทัยตามเอกสารหมาย ป.3 ถึงป.42 นั้น คงจะเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้ออาหารเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอรับประทานสำหรับนักเรียนซึ่งมีอยู่ประมาณ 180-200 คน จำเลยที่ 1 ได้กรอกรายการเพิ่มขึ้นเพื่อให้จำนวนเงินตรงกับที่จ่ายไปจริง หาได้มีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังเอาเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกรายการในใบสำคัญคู่จ่ายตามความจริง ย่อมไม่เป็นการทำเอกสารเท็จหรือรับรองข้อความอันเป็นเท็จการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง”

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

Share