แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โดยได้รับเงินมัดจำไปแล้วบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และได้รับมัดจำแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะนำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ศาลสามารถที่จะกระทำได้ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตรงกับศาลชั้นต้นว่า ในการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริง หากแต่กระทำเพื่อที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง หากแต่ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้ร่วมคิดกันย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เหตุที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเกรงเจ้าหนี้รายอื่นจะมายึดหรืออายัด ฟังประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงซึ่งตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลชั้นต้นถึงความเป็นโมฆะของนิติกรรมดังกล่าว หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 231 เลขที่ดิน 110 ตำบลชนะสงคราม (วัดชนะสงคราม) อำเภอพระนคร (ในพระนคร) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสาม กับขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งสามรับชำระค่าที่ดินอีกจำนวน 23,000,000 บาท จากโจทก์ทั้งสอง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม หรือหากสภาพแห่งหนี้ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย ขอให้จำเลยทั้งสามคืนเงินมัดจำจำนวน 27,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปในแต่ละงวดจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นและขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับค่าเช่าในส่วนที่ให้เช่าเป็นร้านค้าเดือนละ 200,000 บาท และค่าเช่าในส่วนที่เป็นห้องพักเดือนละ 150,000 บาท นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 231 เลขที่ดิน 110 ตำบลชนะสงคราม (วัดชนะสงคราม) อำเภอพระนคร (ในพระนคร) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองภายหลังจากโจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินที่เหลืออีกจำนวน 23,000,000 บาท ครบถ้วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 150,000 บาท นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือมีการดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นสมบูรณ์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 231 เลขที่ดิน 110 ตำบลชนะสงคราม (วัดชนะสงคราม) อำเภอพระนคร (ในพระนคร) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากจำเลยที่ 1 ในราคา 50,000,000 บาท ตกลงชำระเงินมัดจำเป็น 4 งวด งวดแรกชำระในวันทำสัญญา 5,000,000 บาท งวดที่สองชำระวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จำนวน 5,000,000 บาท งวดที่สามชำระในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 จำนวน 5,000,000 บาท งวดที่สี่ชำระในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 จำนวน 10,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายใน 4 เดือน นับจากวันที่ชำระเงินงวดที่สี่และโอนกรรมสิทธิ์ในวันเดียวกับที่ปลดจำนอง จำเลยที่ 1 ได้รับมัดจำจากโจทก์ทั้งสี่งวดแล้วเป็นเงินรวม 25,000,000 บาท และต่อมาจำเลยที่ 1 ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสอง 2,000,000 บาท และต่อมามีข้อตกลงให้ถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นมัดจำค่าที่ดินพิพาทเพิ่มเติม รวมจำเลยที่ 1 ได้รับมัดจำค่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ทั้งสองนัดหมายให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทพร้อมรับชำระค่าที่ดิน ส่วนที่เหลือในวันที่ 18 เมษายน 2548 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โดยได้รับเงินมัดจำไปแล้วบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และได้รับมัดจำแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะนำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริงนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ศาลสามารถที่จะกระทำได้ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตรงกับศาลชั้นต้นว่า ในการกระทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรในวันที่ 29 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริง หากแต่กระทำเพื่อที่จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง หากแต่ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกันย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเหตุที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเกรงเจ้าหนี้รายอื่นจะมายึดหรืออายัด เมื่อฟังประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทเป็นการแสดงเจตนาลวงซึ่งตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลชั้นต้นถึงความเป็นโมฆะของนิติกรรมดังกล่าว จึงกระทำได้โดยชอบ หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง