แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าฮาริสของบริษัทอ. ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ต่างประเทศ โจทก์เคยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 1ย่อมรู้จัก รอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของสินค้าที่จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ดี การที่โจทก์ที่ 1 สั่งสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สของกลางซึ่งมีเครื่องหมายการค้าฮาริสปลอมเข้ามาจำหน่ายโดยเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัทอ.จึงทำให้บริษัทดังกล่าวเสียหายเป็นการละเมิด ดังนั้น จำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อ.ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว จึงมีสิทธิมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายกับโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อได้รับแจ้งความแล้วได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามอำนาจหน้าที่และโดยสุจริต กล่าวคือทำการตรวจค้น เมื่อได้ความว่าสินค้าของกลางมีการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันเข้าลักษณะความผิดทางอาญา จึงได้ยึดสินค้าดังกล่าวเป็นของกลางแล้วมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปการกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีปับลิกและกงสุลไทยแห่งเมืองนั้นรับรองอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริงเป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยรวมจำนวน 860,387 บาท แก่โจทก์ทั้งสองและชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 800,360 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้สั่งซื้อมาตรวัดความดันแก๊สจากบริษัทฮาริสเอ็นจิเนียริ่งเวอร์คจำกัด ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โจทก์ที่ 1 ได้ขายสินค้าดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจว่า สินค้าดังกล่าวเป็นของปลอมแปลง จำเลยที่ 4 ได้ยึดมาตรวัดความดันแก๊สจำนวน358 ชุด โจทก์ได้แสดงหลักฐานการซื้อสินค้าว่าซื้อมาถูกต้องฝ่ายจำเลยไม่ยอมคืนสินค้าดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย มีปัญหาในชั้นนี้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อมามีเครื่องหมายการค้าว่าฮาริสเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้บริษัทฮาริสเอ็นจิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด แห่งประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จดทะเบียนไว้ มีรูปลักษณะตามเอกสารหมาย จ.5 มีตัวอักษรจีนอยู่ข้างบนอักษรภาษาอังกฤษว่าฮาริสอยู่ด้านล่าง ได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2523มีกำหนด 10 ปี จำเลยนำสืบว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวบริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้จดทะเบียนไว้มีรูปรอยลักษณะปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 3คือตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า ฮาริส อยู่ในรูปวงรี (รูปไข่) โดยจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2501 และต่ออายุใหม่อีก 20 ปีถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531 เหตุที่จำเลยที่ 3 แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดสินค้าของโจทก์นั้น เพราะโจทก์ที่ 1 สั่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อฮาริสของบริษัทอีเมอรสันอีเลคทริคจำกัดที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของบริษัทดังกล่าว ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 และ ล.3 แผ่นที่ 3 แล้ว ปรากฏว่ารูปลักษณะของตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกล่าวคือของฝ่ายโจทก์ตัวอักษรเอนและมีอักษรจีนอยู่ด้านบนส่วนของจำเลยเป็นอักษรตัวตรงอยู่ภายในวงรี เมื่อนำเครื่องหมายการค้าตามภาพในเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งอยู่ที่กล่องบรรจุมาตรวัดความดันแก๊สที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดจากโจทก์มาเป็นของกลางมาเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่กล่องของกลางนั้นมีรูปลักษณะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่บริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด ได้จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 3 และเครื่องหมายการค้าที่กล่องสินค้าของกลางไม่มีส่วนคล้ายกับของบริษัทฮาริสเอ็นจิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด ที่จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 อย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางพิจารณายังปรากฏว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทฮาริสเอ็นจิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด ถูกเพิกถอนแล้วตามเอกสารหมาย ล.7 เมื่อปรากฏว่าสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูป รอยประดิษฐ์เหมือนของบริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัดโจทก์ต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าฮาริส ตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 3 เพราะโจทก์เคยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.10 โจทก์ที่ 1 ยอมรู้จักรูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ดี การที่โจทก์ที่ 1 สั่งสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สของกลางเข้ามาจำหน่าย ก็โดยเจตนาจะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัดทำให้บริษัทดังกล่าวเสียหายเป็นการละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าวให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายกับโจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อรับแจ้งความแล้วได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่และโดยสุจริต กล่าวคือไปทำการตรวจค้น เมื่อได้ความว่าสินค้าของกลางมีการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น อันเข้าลักษณะความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1)จึงได้ยึดสินค้าดังกล่าวเป็นของกลางแล้วมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปการกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
สำหรับฎีกาโจทก์ทั้งสองที่ว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.8 ไม่ปิดอากรแสตมป์ ไม่ลงวันที่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีปับลิกและกงสุลไทยเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ รับรองอีกชั้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับดังที่ปรากฏตามหนังสือแนบท้ายหนังสือนี้เป็นลายมือชื่อ และตราประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศดังกล่าวแล้วไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน