แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จากแบบแปลนแผนผังที่นายตรวจอาคารงานโยธาทำขึ้นไม่ปรากฏว่ามีห้องน้ำห้องส้วมในตัวอาคาร แสดงว่าขณะที่จำเลยซื้อบ้านพิพาทมีห้องน้ำห้องส้วมรวมกันอยู่ติดกับรั้วกว้างประมาณ 1 วา ยาวประมาณ 1 วาเศษ ต่อมาจำเลยได้แบ่งซอยห้องน้ำห้องส้วม เดิมเป็นสองห้องใหม่โดยไม่ปรากฏว่ามีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ จึงไม่ทำให้พื้นที่ว่างเดิมลดน้อยลง อาคารของจำเลยได้ก่อสร้างมาก่อนพ.ศ.2522 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายมีพื้นที่ว่างไม่ถึงร้อยละ 30 แม้จะขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็หามีผลย้อนหลังใช้บังคับแก่อาคารของจำเลยได้ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรื้อถอนห้องน้ำห้องส้วมที่แบ่งซอย
ห้องส้วมอีก 4 ห้อง ขนาด 1.20 x 1.30 เมตร สูง 2 เมตรเป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แม้จะก่อสร้างอยู่ใต้ชายคาเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้ความว่ามีบางส่วนด้านที่ติดกับรั้วบ้านเลขที่8/10 ล้ำออกไปจากชายคาประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เหลือที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมลดลงไปกว่าเดิม และน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522ข้อ 76 (1) และไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จำเลยจึงต้องรื้อถอนห้องส้วมจำนวน 4 ห้อง ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่