คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3641/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้เสียหายนอนอยู่ในห้องนอน โดยมีจำเลยทั้งสี่กับพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่หน้าห้องนอน แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอนในลักษณะต่อเนื่องกันไปในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน ในสถานที่เดียวกัน จำเลยแต่ละคนกับพวกย่อมต้องรู้กันและตกลงกันในหมู่เพื่อนที่ร่วมดื่มสุราด้วยกันว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายก่อนหลังไม่ให้ผู้เสียหายมีโอกาสตั้งตัวเพื่อหลบหนีหรือขัดขืนได้ จำเลยแต่ละคนเดินสวนเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในเวลา 1 ถึง 2 นาที หลังจากจำเลยคนก่อนกระทำชำเราเสร็จ แม้จะไม่มีจำเลยคนใดเข้าไปช่วยกันจับตัวหรืออยู่ด้วยในเวลาที่มีการกระทำชำเราของจำเลยแต่ละคน แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะจำเลยแต่ละคนได้กระทำการดังกล่าวจนครบทุกคน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นการกระทำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมผู้เสียหาย และระบุมาตรา 277 มาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ศาลย่อมลงโทษตามวรรคที่ถูกต้องได้ และฟังได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 92, 277 เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1860/2559 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ก. ผู้เสียหายโดยนาง ค. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจเป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยทั้งสี่ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ส่วนจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยทั้งสี่ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 3 อายุสิบเก้าปีเศษ สมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน เนื่องจากศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายได้ จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1860/2559 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 12 เดือน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันกระทำละเมิด เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ (ที่ถูกคำขออื่นให้ยก)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่ภริยาของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสี่กับพวก โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีความผิดฐานร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กับพวกไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนที่จะกระทำชำเราผู้เสียหาย พฤติการณ์ในการกระทำก็มีช่วงเวลาที่ขาดตอนกัน ไม่มีการช่วยเหลือจับตัวผู้เสียหาย ไม่มีจำเลยคนใดเข้าไปช่วยเหลือจำเลยอื่นในการกระทำชำเรา โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสี่เข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะต่อเนื่องกันไปในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน ในสถานที่เดียวกันย่อมต้องรู้กันและตกลงกันในหมู่เพื่อนที่ร่วมดื่มสุราด้วยกันว่าผู้ใดก่อนหลังไม่ให้ผู้เสียหายมีโอกาสตั้งตัวเพื่อหลบหนีหรือขัดขืนได้ จำเลยแต่ละคนเดินสวนเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในเวลา 1 ถึง 2 นาที หลังจากจำเลยคนก่อนกระทำชำเราเสร็จ แม้จะไม่มีจำเลยคนใดเข้าไปช่วยกันจับตัวหรืออยู่ด้วยในเวลาที่มีการกระทำชำเราของจำเลยแต่ละคน น่าจะเพราะผู้เสียหายเป็นเด็กผู้หญิงมิได้มีแรงขัดขืนหรือแม้ผู้เสียหายจะตะโกนร้องขอความช่วยเหลือก็ไม่กังวลว่าจะมีใครได้ยิน เนื่องจากเป็นบ้านของจำเลยที่ 2 และมีแต่พวกของจำเลยอยู่ภายในบ้านจนต้องช่วยกันจับตัวหรือทำร้ายผู้เสียหายจึงไม่มีการกระทำเช่นนั้น แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะจำเลยแต่ละคนได้กระทำการดังกล่าวจนครบทุกคน จำเลยทุกคนมีเจตนาจะเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายเพราะย่อมต้องได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้เสียหายแต่ไม่มีผู้ใดเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อรอจะกระทำเช่นนั้นเป็นคนต่อไปนั้นเอง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบว่า จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายก็ดี มิได้วางแผนร่วมกันมาก่อนก็ดี การกระทำของจำเลยแต่ละคนขาดตอนแล้วมิได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ต่างคนต่างทำก็ดี ล้วนไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายมิได้ล็อกประตูไว้นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นแขกผู้มาอาศัยและเจ้าของบ้านคือจำเลยที่ 2 ก็เคยมานอนอยู่ด้วยกันแล้ว 1 คืน ก่อนเกิดเหตุ น่าเชื่อว่าผู้เสียหายไม่กล้าล็อกประตูห้องเพราะเจ้าของบ้านก็จะมานอนในห้องด้วยตามปกติ และน่าจะไม่มีโอกาสล็อกประตูห้องขณะเกิดเหตุ เพราะจำเลยแต่ละคนเมื่อกระทำชำเราผู้เสียหายเสร็จ มีการเข้าออกจากห้องเพื่อให้จำเลยอื่นเข้ามากระทำชำเราต่อ ๆ กันไปนั่นเอง และที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์มิได้บรรยายท้ายฟ้องให้ลงโทษ มาตรา 277 วรรคสี่ นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าเป็นการกระทำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมผู้เสียหาย และระบุมาตรา 277 มาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ศาลย่อมลงโทษตามวรรคที่ถูกต้องได้ และฟังได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีลักษณะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอันเป็นการโทรมเด็กหญิงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share