คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ขายฝากขอไถ่การขายฝากภายในกำหนดเวลาแห่งสัญญาแต่ผู้ซื้อฝากเกี่ยงจะให้ผู้ขายฝากชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างด้วยจึงไม่รับไถ่ ผู้ขายฝากฟ้องขอไถ่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2492 โจทก์ได้ทำสัญญาต่ออำเภอปทุมวัน ขายฝากตึกแถว 2 ชั้นเลขที่ 223, 225, 227, 229, 231 ถนนจารุเมือง และเลขที่ 140 ตรอกสุนทรพิมล ตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นของโจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อไว้กับจำเลยเป็นเงิน 50,000 บาท มีกำหนดไถ่ถอนคืนภายในเวลา 2 ปี บัดนี้โจทก์ได้พยายามไถ่ถอนคืนตึกรายนี้ แต่จำเลยบิดพลิ้วต่าง ๆ และเกี่ยงจะให้โจทก์ชำระค่าเช่าตึกพิพาทที่ค้างชำระก่อน ฝ่ายโจทก์ก็ยอมแต่ขอทำการไถ่ถอนการขายฝากเสียก่อน จึงคิดเรื่องค่าเช่ากัน จำเลยไม่ยอมและอายุสัญญาไถ่ถอนการขายฝากจะสิ้นสุดลงในวันที่ 6 ตุลาคม 2494 โจทก์ไม่มีทางบังคับให้จำเลยรับเงินค่าไถ่ถอนตึกรายพิพาทได้จึงต้องนำคดีมาสู่ศาล (โจทก์ฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2494) ขอบังคับให้จำเลยรับเงินจำนวน 50,000 บาทไว้เป็นค่าไถ่ถอนการขายฝากตึกแถวตามฟ้อง และให้จำเลยไปทำการแก้ทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ณ ที่ว่าการอำเภอปทุมวัน

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับซื้อฝากห้องแถว 6 ห้องจากโจทก์ในราคา 50,000 บาท เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2492 กำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 2 ปี ดังฟ้องจริง แต่ที่อ้างว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอนนั้นไม่จริง ความจริงเมื่อนัดให้ไปอำเภอเพื่อทำการไถ่ถอน จำเลยก็ไปที่อำเภอตามนัด แต่ตัวแทนของโจทก์ไม่มีเงินมาไถ่ตามจำนวนที่จำเลยรับซื้อไว้ จำเลยไม่ได้บิดพลิ้วอย่างใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนครบกำหนดสัญญาก็เพื่อประวิงเวลาการไถ่ถอนไป เพราะโจทก์ไม่มีเงินนั่นเอง เมื่อครบกำหนดเวลา 2 ปี โจทก์ก็ไม่มีเงินมาไถ่ถอนแก่จำเลยตามจำนวนที่รับซื้อไว้ดังนี้ โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะไถ่ถอนต่อไป ตึกแถวรายนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาด โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรับการไถ่ถอน

ศาลชั้นต้นพิจารณาโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบโต้เถียงกันคือในข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้นำเงินมาไถ่ถอนครบจำนวนตามสัญญา แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับไถ่ถอน ซึ่งฝ่ายจำเลยเถียงว่าจำเลยไม่ได้บิดพลิ้ว ที่โจทก์ทำการไถ่ถอนไม่ได้เป็นเพราะโจทก์มีเงินมาชำระให้จำเลยไม่พอต่างหาก ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อฟังยิ่งกว่าพยานโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้โจทก์ได้นำคดีมาสู่ศาลขอทำการไถ่ถอนการขายฝากตึกพิพาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2494 ก่อนสัญญาขายฝากรายนี้จะสิ้นสุดถึง 4 วัน ถือว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิขอไถ่ถอนตึกพิพาทนี้ทางศาลภายในอายุสัญญาขายฝากแล้ว ดังนั้นข้อโต้เถียงที่ว่าโจทก์มีเงินไปพอไถ่ถอนการขายฝากหรือไม่ จำเลยเป็นฝ่ายบิดพลิ้วหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึง หากจะรับฟังดังจำเลยอ้าง โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอไถ่ถอนตึกพิพาทภายในระยะเวลาตามสัญญาได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อประวิงเวลาการไถ่ถอนรายนี้ออกไปนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ใช้สิทธิของตนตามข้อสัญญาโดยชอบแล้วแต่เพื่อให้หมดสงสัยและได้ความแจ่มแจ้ง ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาข้อที่โต้เถียงดังกล่าวเสียด้วย และเห็นว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าจำเลย ฟังว่า จำเลยเป็นฝ่ายบิดเบี่ยงไม่ยอมรับทำการไถ่ถอนตึกพิพาทรายนี้

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้จำเลยรับเงินค่าไถ่ถอนตึกพิพาทจำนวน50,000 บาทจากโจทก์ และจดทะเบียนการไถ่ถอนตึกรายนี้ที่อำเภอปทุมวันต่อไป ถ้าจำเลยไม่ไปให้ความยินยอมก็ให้ถือคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงตรวจปรึกษาแล้ว การขายฝากคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ และการไถ่ทรัพย์คืนนี้ย่อมใช้สิทธิไถ่ได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่ตกลงกันในสัญญา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 494, 495)

คดีได้ความว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2494 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่ออำเภอปทุมวัน เพื่อขอไถ่ถอนการขายฝากตึกพิพาทรายนี้อำเภอนัดให้มาพร้อมกันในวันที่ 31 เดือนนั้น ถึงวันนัดฝ่ายโจทก์ (โดยมีผู้รับอำนาจ) และจำเลยมาอำเภอ ฝ่ายโจทก์นำเช็ค 50,000 บาท ไปเพื่อชำระให้จำเลย แต่จำเลยไม่รับจะเอาเงินสด จึงตกลงเลื่อนไปไถ่ถอนกันใหม่ในวันที่ 3 กันยายนถึงกำหนดฝ่ายโจทก์ว่าได้นำเงินสด 50,000 บาทไปวาง แต่จำเลยไม่ยอมให้ไถ่อ้างว่าโจทก์ยังติดค้างค่าเช่าอยู่ราว 7 เดือน (คือโจทก์เช่าตึกที่ขายฝากนี้กับจำเลย) จึงตกลงเลื่อนกันไปวันที่ 18 กันยายน แต่ข้อนี้จำเลยเถียงว่าฝ่ายโจทก์นำเงินมาไม่ครบ จึงได้เลื่อนไป ครั้นถึงวันที่ 18 กันยายน ฝ่ายโจทก์ไปอำเภอเพื่อไถ่ถอนรายนี้ แต่จำเลยไม่ไปมีภริยาจำเลยไปร้องว่า จำเลยป่วยมาไม่ได้จึงตกลงเลื่อนไปอีก ในวันที่ 24 กันยายน ถึงกำหนดฝ่ายโจทก์อ้างว่าได้นำเงินสด 50,000 บาท กับค่าเช่า 6 พันบาทเศษ เพื่อไปชำระให้จำเลยแต่จำเลยเกี่ยงจะเอาค่าเช่าถึงวันสิ้นเดือนกันยายน แต่ฝ่ายโจทก์จะให้เพียงถึงวันที่ 18 กันยายน ไม่เป็นที่ตกลงกัน จำเลยก็กลับ ฝ่ายโจทก์จะให้ทำบันทึกจำเลยก็ไม่ยอม ฝ่ายโจทก์จึงยื่นคำร้องต่ออำเภอไว้เป็นหลักฐาน แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า แม้ในวันที่ 24 กันยายน ฝ่ายโจทก์ก็คงนำเงินไปไม่ครบจำนวนห้าหมื่นบาทตามสัญญา จำเลยจึงไม่ยอมรับและกลับไปเสีย

พิจารณาคำพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลควรเชื่อฟังยิ่งกว่าฝ่ายจำเลย เรื่องนี้โจทก์เป็นฝ่ายที่ไปขอไถ่ถอนการขายฝาก และตึกพิพาทก็มีราคาถึง 2 แสนบาท ข้อที่อ้างว่าฝ่ายโจทก์มีเงินไปไม่พอกับราคาขายฝากจึงดูไม่สมจำเลยคงเกี่ยงเรื่องค่าเช่าที่โจทก์ติดค้างมากกว่า ซึ่งความจริงก็เป็นหนี้ต่างรายกัน จะยกเป็นเหตุเพื่อไม่ยอมรับไถ่ถอนหาได้ไม่ เหตุผลต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ฉะนั้นคดีนี้จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่การขายฝากรายนี้ภายในกำหนดเวลาในสัญญาแล้วย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรับไถ่ถอนการขายฝากได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นนี้ 500 บาทแทนโจทก์

Share