คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยขายฝากกับโจทก์ และศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้มาแล้วว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย แม้ผู้ร้องจะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องสอดซึ่งมรณะในคดีที่ผู้ร้องสอดฟ้องจำเลย และต่อมาศาลอุทธรณ์จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวให้ลงชื่อผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้ภายหลัง ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้แล้วก็ตาม ก็หามีผลเปลี่ยนแปลงฐานะในคดีของผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้รับมรดกความและผู้จัดการมรดกของผู้ร้องสอดผู้มรณะในคดีนั้นให้พ้นจากฐานะบริวารจำเลยในคดีนี้ไม่ เพราะผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความโดยตรง และประเด็นข้อพิพาทก็ต่างกันกับคดีนี้ จึงยังต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยที่ไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้ว คำพิพากษาคดีนี้จึงบังคับถึงผู้ร้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3843 และ 3844 และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ชั้นบังคับคดีโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยไม่ยอมออกไป ศาลชั้นต้นหมายเรียกผู้ร้องมาสอบถาม ผู้ร้องอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยและที่ดินโฉนดเลขที่ 3843, 3844 นางอุรา คงคาเขตรผู้ร้องสอด ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 15360/2522 และฟ้องทั้งโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 15584/2525 คดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนคดีหลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า เรื่องเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยนั้นผู้ร้องไม่มีข้ออ้างตามกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ได้ ส่วนเรื่องที่นางอุราเป็นโจทก์ฟ้องในคดีทั้งสองดังกล่าว ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความด้วย ผู้ร้องมีฐานะเป็นบริวารของจำเลย จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องออกไปจากห้องพิพาทภายในกำหนด 1 เดือน ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีหมายเลขแดงที่ 15360/2522 นั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า นางอุรา คงคาเขตร ผู้ร้องสอดมีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 3843 และ 3844 และไม่เกี่ยวกับการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดี จึงไม่ถูกผูกพันหรือถูกบังคับตามคำพิพากษาคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องสอดและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ร้องสอดผู้มรณะจึงไม่ผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวด้วย ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวก็ระบุชัดว่าผู้ร้องสอดมิใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ผู้ร้องสอดและผู้ร้องจึงมิใช่บริวารของจำเลย ขอให้ศาลไต่สวนและสั่งเพิกถอนคำบังคับและหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4787/2528 ว่าผู้ร้องมีฐานะเป็นบริวารของจำเลย ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้รับมรดกความของนางอุรา คงคาเขตร ผู้ร้องสอดจึงมีอำนาจพิเศษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 1113/2529 นั้น ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวเป็นเรื่องฟ้องขอใส่ชื่อร่วมในที่พิพาทเท่านั้นมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับฐานะทางครอบครัวหรือบริวารแต่อย่างใดเมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยแล้ว ผู้ร้องและผู้ร้องสอดก็ต้องปฏิบัติตามคำบังคับและหมายบังคับคดีของศาล จึงให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 1113/2529 ระหว่างนางอุรา คงคาเขตร โจทก์นายพิเศษ คงคาเขตร จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดเลขที่ 3843, 3844ด้วย (ที่ดินพิพาทในคดีนี้) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ในคดีเดียวกันนี้ด้วยว่าโจทก์จำเลยมิได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นข้อนี้ด้วย ผู้ร้องจึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยคดีนี้ ผู้ร้องจึงมิใช่บริวารของจำเลย เห็นว่าในปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้มาแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4787/2528 ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและแม้ผู้ร้องจะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องสอดซึ่งมรณะในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ในขณะนั้นดังที่ผู้ร้องอ้างผู้ร้องก็มิได้เป็นคู่ความโดยตรง และประเด็นข้อพิพาทก็ต่างกันกับคดีนี้ แม้เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาดังกล่าวในคดีนี้แล้วต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์จะได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่1113/2529 (คดีหมายเลขแดงที่ 15360/2522 ของศาลชั้นต้นตามที่ผู้ร้องอ้าง) ให้ลงชื่อโจทก์คือผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้ทั้งสองแปลง และคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็หามีผลเปลี่ยนแปลงฐานะในคดีของผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้รับมรดกความและผู้จัดการมรดกของผู้ร้องสอดผู้มรณะในคดีนั้นให้พ้นจากฐานะบริวารจำเลยในคดีนี้ไม่ จึงยังต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยที่ไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้ว คำพิพากษาคดีนี้จึงบังคับถึงผู้ร้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share