แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ภาระการพิสูจน์ของคู่ความต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและหากชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดภาระการพิสูจน์ผิดพลาดไป ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้สืบพยานไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นจนสิ้นกระแสความแล้ว โดยศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทโดยมิได้ยกเอาหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์มาเป็นเหตุพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี และคดีก็ยังต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงอีกด้วย ดังนั้น แม้ฝ่ายใดจะมีภาระการพิสูจน์ ผลแห่งคดีก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1218 ตำบลคำขวางอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาปี 2540 มีทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านกลางจึงทำให้แบ่งแยกเป็น 2 แปลง แปลงที่ 1 เนื้อที่ 1 งานเศษ แปลงที่ 2 เนื้อที่ 1 ไร่เศษจำเลยบุกรุกเข้าไถที่ดินเต็มพื้นที่ทั้ง 2 แปลงและยังล้อมรั้วที่ดินแปลงที่ 2 และโต้แย้งว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้อง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปพร้อมกับให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนางแก้ว กองพันธ์ ภริยาจำเลยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1219 เนื้อที่ 17 ไร่2 งาน 20 ตารางวา ซึ่งนางแก้วได้มาโดยการเข้าจับจองและเข้าทำประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันกับจำเลยโดยสงบเปิดเผยไม่มีผู้ใดโต้แย้งมาเป็นเวลา 40 ปี ต่อมาปี 2521 จำเลยไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยใส่ชื่อนางแก้วเป็นผู้ถือครองสิทธิ น.ส. 3 ก. เลขที่ 1218 ที่โจทก์อ้างไม่ใช่ น.ส. 3 ก. ของที่ดินพิพาทแต่เป็นที่ดินอีกแปลงหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ ขอให้ศาลฎีกากำหนดภาระการพิสูจน์ใหม่นั้น เห็นว่า แม้ภาระการพิสูจน์ของคู่ความต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและหากชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดภาระการพิสูจน์ผิดพลาดไป ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องแต่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยได้สืบพยานไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นจนสิ้นกระแสความแล้ว โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทโดยมิได้ยกเอาหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์มาเป็นเหตุพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี เมื่อคดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้ แม้ฝ่ายใดจะมีภาระการพิสูจน์ ผลแห่งคดีก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไป ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกา จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย