แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนราวสะพานของกรมทางหลวงโจทก์เสียหายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2526 การนับอายุความละเมิดคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ต้องเริ่มนับแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การที่นิติกร กองนิติการของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2527และวันที่ 27 ธันวาคม 2527 จะถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่มีหนังสือทวงถามไม่ได้เพราะการทวงถามทำโดยนิติกร ซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมโจทก์หาใช่อธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนของโจทก์ทำการสอบสวนและรู้ตัวผู้พึงต้องรับผิดแล้ว ได้รายงานเสนอไปยังอธิบดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 และอธิบดีทราบเรื่องเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 จึงถือได้ว่าอธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2528ยังไม่เกิน 1 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของราวสะพานบางขัน ริมทางหลวงหมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 40 + 271 ตอนรังสิต – บางปะอิน จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-9539 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ควบคุมและครอบครองโดยเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตามถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยก่อนจะขับรถยนต์ออกรับส่งผู้โดยสาร จำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบดูยางรถยนต์ ล้อรถยนต์เครื่องห้ามล้อของรถยนต์คันดังกล่าวว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ขับได้โดยปลอดภัยหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ขับรถเร็วโดยประมาทฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้นถึงที่เกิดเหตุกิโลเมตรที่ 40 + 271 ตอนรังสิต – บางปะอิน รถยนต์โดยสารคันดังกล่าวได้แล่นชนราวสะพานบางขันซึ่งเป็นราวสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นเหตุให้ราวสะพานแตกหักชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมแซมใหม่รวมเป็นเงิน 21,021.25 บาท โจทก์และเจ้าหน้าที่ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้สินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 21,021.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-9539 กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จริง ตามวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวจากจังหวัดอุทัยธานีมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครด้วยความระมัดระวังและใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ครั้นมาถึงที่เกิดเหตุยางล้อหน้าด้านขวาของรถยนต์โดยสารถูกตะปูตำทะลุถึงยางในทำให้ลมในยางรั่วออกอย่างกะทันหันเมื่อลมยางอ่อนทำให้หน้ารถด้านขวาต่ำขณะขึ้นเนินสะพาน เป็นเหตุให้รถเสียหลักพุ่งไปทางด้านขวา แก้มยางด้านขวากระแทกกับขอบฐานราวสะพาน ยางล้อหน้าด้านขวาจึงเกิดระเบิดขึ้น จำเลยที่ 1 ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้รถไปชนราวสะพานได้ ยางล้อหน้าด้านขวาเป็นยางที่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี ถ้าไม่ถูกตะปูตำทะลุถึงยางในและไปกระแทกกับขอบราวสะพาน ก็จะไม่เกิดระเบิดขึ้น เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้แม้จะใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้วก็ตาม จึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ และเหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2526 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2528 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ควรเกิน10,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 21,021.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลเป็นกรมในรัฐบาล ซึ่งมีนายจำลอง ศาลิคุปต เป็นอธิบดีมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบของราชการ ถือว่าส่วนราชการเป็นโจทก์และอธิบดีคือนายจำลองเป็นผู้แทนตามกฎหมาย ฉะนั้น การนับอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า เหตุแห่งการละเมิดได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2526 และโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2527และวันที่ 27 ธันวาคม 2527 ตามหนังสือกองนิติการ กรมทางหลวงเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2528 เกินกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม ก็ปรากฏว่าผู้ที่ทวงถามตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นั้น คือนิติกรซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์หาใช่อธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์โดยตรงไม่ ยิ่งไปกว่านี้โจทก์ได้นำสืบให้เห็นว่า หลังจากคณะกรรมการสอบสวนของโจทก์ทำการสอบสวนและรู้ตัวผู้พึงต้องรับผิดแล้วได้รายงานเสนอไปยังอธิบดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 และอธิบดีทราบเรื่องเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 ดังปรากฏหลักฐานตามบันทึกข้อความกองนิติการเอกสารหมาย จ.1 จึงถือได้ว่าอธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 4มีนาคม 2528 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 8 พฤศจิกายน2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2.