แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้การที่พนักงานสอบสวนจะรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้โดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ก็ตาม แต่การควบคุมนั้นก็ยังคงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวนอยู่ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ต้องขังไป จึงเป็นการกระทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขัง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,191 และ 204 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204 จำคุก 4 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2528 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด จับกุมนายเกีย ศรีปัจสะหรือศรีพันธรัตน์ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดในข้อหาว่าใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนและเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเขมรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้ในห้องขังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด สำหรับข้อหาใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่คงควบคุมตัวนายเกียผู้ต้องหาไว้ตลอดมาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้หมายขังนายเกียไว้ จนวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 จำเลยซึ่งทำหน้าที่เป็นสิบเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรนั้น ได้ปล่อยให้นายเกียหลบหนีไป มีปัญหาว่านายเกียถูกควบคุมโดยอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่านายเกียถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดจับส่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด ในข้อหาที่กล่าวแล้วข้างต้น จึงเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งที่จะควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสองบัญญัติไว้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดรับตัวนายเกียควบคุมไว้มิได้ปล่อยตัวไป การควบคุมนายเกียจึงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว แต่เพื่อมิให้การควบคุมเกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 จึงได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมผู้ถูกจับไว้เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วางไว้ก็มีผลเพียงให้การควบคุมของพนักงานสอบสวนเป็นการผิดกฎหมายซึ่งบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยได้ แต่การควบคุมนั้นก็คงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้รับตัวผู้ถูกจับไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนปล่อยตัวนายเกียไปการกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขังไปดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น