แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 4 สั่งจ่ายระบุชื่อจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก และขีดคร่อมระบุไว้กลางเส้นขนานที่ขีดคร่อมว่า “เฉพาะ” ดังนี้ จำเลยที่ 4 อาจประสงค์ให้เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะและให้ใช้เงินแก่ธนาคารตามเช็คก็ได้ ทั้งจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าในทางปฏิบัติหรือประเพณีของธนาคารเป็นที่ยอมรับกันว่าเช็คที่ใช้ถ้อยคำเช่นนี้ห้ามมิให้ เปลี่ยนมือ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำอื่นอันได้ความทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ข้อความดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน จึงหามีผลต่อเช็คพิพาทไม่ตามมาตรา 899 เมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คนั้นมาขายลดให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 989จึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 4 จำกัดอยู่เพียงไม่เกินจำนวนเงินในเช็คพิพาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ตอนต้น ฉะนั้น การที่จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลยที่ 4แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นในฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงศาลล่างได้ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้นำเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สำนักงานใหญ่ ซึ่งจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สั่งจ่ายและเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเสาชิงช้า ซึ่งจำเลยที่ ๔ เป็นผู้สั่งจ่าย มาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕๕,๑๗๔ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฎิเสธ การจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดในต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๑๘๑,๑๗๒.๘๙ บาท จำเลยที่ ๓ รับผิดในวงเงิน ๑๓๘,๑๓๗.๗๙ บาท และจำเลยที่ ๔ รับผิดในวงเงิน ๒๗,๒๙๘.๙๒ บาท และคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามสัญญาขายลดเช็ค จากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า เช็คที่จำเลยที่ ๔ สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๑ นำไปขายลดแก่โจทก์ เป็นเช็คระบุชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงิน ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและขีดคร่อม มีคำว่า “เฉพาะ”อยู่ระหว่างเส้นคู่ขนาน ซึ่งมีความหมายว่าห้ามเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนมือไม่ได้ จำเลยที่ ๑ นำไปขายแก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๔ ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน๑๘๑,๑๗๒.๘๙ บาท และจำเลยที่ ๓ รับผิดในวงเงิน ๑๓๘,๑๓๗.๗๙ บาทจำเลยที่ ๔ รับผิดในวงเงิน ๒๗,๒๙๘.๙๒ บาท กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ชำระในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปีในต้นเงิน ๑๕๕,๑๗๔ บาท จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ชำระในอัตราร้อยละ ๗.๕ต่อปี ในต้นเงิน ๑๒๙,๕๘๔ บาท และ ๒๕,๕๙๐ บาท ตามลำดับ นับแต่วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๘ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๔ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๖๐๐ บาท
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์เช็คเอกสารหมาย จ.๑๑ แล้ว เป็นเช็คที่จำเลยที่ ๔ สั่งจ่ายระบุชื่อจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก และขีดคร่อมระบุไว้กลางเส้นขนานที่ขีดคร่อมว่า “เฉพาะ” เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๑๗ วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วและเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดั่งนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดีท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ” และมาตรา๙๘๙ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๑๗ มาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยดังนั้น หากจำเลยที่ ๔ ผู้สั่งจ่ายเช็คประสงค์จะห้ามโอนเช็คก็ต้องเขียนคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือคำอื่นซึ่งได้ความทำนองเดียวกัน แต่จำเลยที่ ๔ เขียนเพียงคำว่า “เฉพาะ” ซึ่งจำเลยที่ ๔อาจประสงค์ให้เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะและให้ใช้เงินแก่ธนาคารตามเช็คก็ได้ ทั้งจำเลยที่ ๔ ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าในทางปฏิบัติหรือประเพณีของธนาคารเป็นที่ยอมรับกันว่าเช็คที่ใช้ถ้อยคำเช่นนี้ ห้ามมิให้เปลี่ยนมือ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำอื่นอันได้ความทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๗ วรรคสอง เช็คเอกสารหมาย จ.๑๑ จึงเป็นเช็คที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๑๗ วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ ๑ นำเช็คนั้นมาขายลดให้โจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ ๔ ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค
ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่มิใช่ลูกหนี้ร่วมศาลชั้นต้นสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๑ในฐานะผู้สลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑ ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๖๗ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙ จึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องร่วมกันรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ ๔ จำกัดอยู่เพียงไม่เกิน๒๕,๕๙๐ บาท ตามจำนวนเงินในเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ระหว่างผิดนัดเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ตอนต้น ฉะนั้น การที่จะให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลยที่ ๔ แม้จำเลยที่ ๔ จะมิได้อุทธรณ์ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นในฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงศาลล่างได้ด้วย
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยคิดจากทุนทรัพย์ ๒๗,๒๙๘.๙๒ บาท กับให้ร่วมรับผิดใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น ๑,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.