แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเช็คพิพาทเป็นหลัก เมื่อธนาคารจำเลยให้การต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดเพราะจำเลยนำเงินตามเช็คพิพาทเข้าบัญชีของ ส.หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องสอดและเป็นตัวแทนโจทก์ตามคำสั่งของ ส. เป็นการกระทำโดยสุจริตและผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า เงินตามเช็คพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาทหาเป็นเรื่องนอกฟ้อง นอกประเด็นไม่ แม้เช็คพิพาทซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปและมีข้อความว่า “เข้าบัญชีผู้รับเท่านั้น”แต่เมื่อเงินตามเช็คเป็นของผู้ร้องสอด การที่ธนาคารจำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วนำเงินเข้าบัญชีของ ส. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างผู้ร้องสอดโดยโจทก์ตกลงให้กระทำได้ ย่อมไม่เป็นการละเมิด ต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบของโรงเรียนเป็นเช็คพิพาทรวม 4 ฉบับ เป็นเงิน 7,211,600 บาท โดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดคร่อมเช็คโดยระบุไว้กลางเส้นที่ขีดคร่อมว่า “เข้าบัญชีผู้รับเท่านั้น” ห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อสร้างกันทรวิชัยตัวแทนโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยให้จำเลยเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแล้วโอนเงินทางโทรเลขให้โจทก์ แต่เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินได้แล้วกลับโอนเงินตามเช็คไปเข้าบัญชีส่วนตัวของนายสุรศักดิ์ ศรีสถิตย์ โดยมิชอบ ถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คซึ่งหักค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินและการโอนออกแล้วจำนวน 7,207,915บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 8,522,543.62 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่า จำเลยนำเงินตามเช็คเข้าบัญชีของ นายสุรศักดิ์ศรีสถิตย์ โดยสุจริตตามคำสั่งของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรศักดิ์กันทรวิชัย ตัวแทนโจทก์ จึงไม่เป็นการละเมิดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรศักดิ์กันทรวิชัยผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า โจทก์กับผู้ร้องสอดตกลงกันให้ใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลงานก่อสร้างโรงเรียนโดยผู้ร้องสอดเป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมดและรับผิดชอบแต่ผู้เดียว โจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องสอดรับเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดและยินยอมให้นำเงินตามเช็คที่รับมาจากผู้ว่าจ้างเข้าบัญชีของผู้ร้องสอด เงินตามเช็คพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างจึงเป็นของผู้ร้องสอด หากโจทก์ชนะคดีผู้ร้องสอดอาจถูกจำเลยใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ จึงร้องสอดเข้ามาในคดี ขอให้ยกฟ้องศาลมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า โจทก์มิได้ตกลงให้ผู้ร้องใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลงานก่อสร้าง โจทก์เป็นผู้ประมูลงานก่อสร้างและดำเนินงานทั้งหมด เงินตามฟ้องเป็นเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์ การที่ผู้ร้องสอดนำเงินของโจทก์ไปเข้าบัญชีของผู้ร้องสอดเป็นการกระทำผิดหน้าที่ตัวแทนของโจทก์ ขอให้ยกคำร้องสอดศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,207,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเช็คธนาคารแห่งประเทศไทยที่กรมสามัญศึกษาเป็นผู้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปโดยมีข้อความว่า “เข้าบัญชีผู้รับเท่านั้น” ต่อมาผู้ร้องสอดซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ในการรับเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับได้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมาให้ธนาคารจำเลยสำนักงานใหญ่เรียกเก็บเงินตามเช็คเหล่านั้น และได้ทำคำขอให้ธนาคารจำเลยสำนักงานใหญ่โอนเงินตามเช็คพิพาทแต่ละฉบับโดยทางโทรเลขไปยังธนาคารจำเลยสาขามหาสารคาม ธนาคารจำเลยสำนักงานใหญ่ได้จัดการให้ตามคำขอดังกล่าว แต่ธนาคารจำเลยสาขามหาสารคามกลับนำเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับไปเข้าบัญชีส่วนตัวของนายสุรศักดิ์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องสอด การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์มิได้รับเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ
ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีไม่มีประเด็นว่า เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเงินของใคร การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นของผู้ร้องสอดเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นหลัก จำเลยให้การต่อสู้ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดเพราะการที่จำเลยนำเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเข้าบัญชีของนายสุรศักดิ์ตามคำสั่งของนายสุรศักดิ์ตัวแทนของโจทก์และเป็นการกระทำโดยสุจริตนอกจากนี้ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่าเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นของผู้ร้องสอด ดังนั้นศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ หาเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
สำหรับประเด็นที่ว่า ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนั้น จำเลยและผู้ร้องสอดนำสืบว่า เมื่อประมาณกลางปี 2523ผู้ร้องสอดได้ยืมชื่อโจทก์ยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ กรมสามัญศึกษาธิการ และทำสัญญาจ้างเหมากับกรมสามัญศึกษา โดยผู้ร้องสอดให้ค่าตอบแทนแก่นายสมจิตร อินทะคำภู หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เดือนละ 1,500 บาทและให้ภริยากับบุตรของนายสมจิตรทำงานก่อสร้างกับผู้ร้องสอดด้วยผู้ร้องสอดเป็นผู้ทำงานก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าว โดยเป็นผู้ลงทุนแต่ผู้เดียว โจทก์จึงได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจากกรมสามัญศึกษาทั้งหมด ซึ่งตามสัญญาแบ่งการจ่ายเงินออกเป็น 5 งวด และโจทก์ตกลงให้ผู้ร้องสอดนำเงินที่ได้รับแต่ละงวดเข้าบัญชีของนายสุรศักดิ์ ศรีสถิตย์หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องสอด บัญชีเลขที่ 474 ที่ธนาคารจำเลยสาขามหาสารคาม ต่อมาได้มีการส่งมอบงานรวม 4 งวด งวดแรกเมื่อเดือนมกราคม 2524 งวดที่ 4 เมื่อเดือนกันยายน 2524 โดยกรมสามัญศึกษาได้จ่ายเงินแต่ละงวดเป็นเช็คธนาคารแห่งประเทศไทย รวมสี่ฉบับจำเลยได้โอนเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับ เข้าบัญชีเลขที่ 474 ของนายสุรศักดิ์ ศรีสถิตย์ และจำเลยได้แจ้งการโอนเงินบัญชีดังกล่าวให้โจทก์ทราบทุกครั้ง โจทก์รับทราบแล้วไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องสอดมีหลักฐานการรับเงินค่าตอบแทนของโจทก์และหลักฐานการจ่ายค่าจ้างให้แก่ภริยาจำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.ร.5 และ ป.ร.6 ตามลำดับ นอกจากนั้นผู้ร้องสอดมีนายไกรวัล ทะกันจร นายอนันต์ มิตรภานนท์ นางผง วงษ์สมศรีนายบุญมี อังกาพย์ เบิกความยืนยันว่าผู้ร้องสอดได้ว่าจ้างให้นายไกรวัลย์ เป็นคนทาสีอาคารเรียนที่ก่อสร้าง ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจากนายอนันต์ มาติดตั้งในอาคารเรียนที่ก่อสร้าง ว่าจ้างนายผงเป็นยามรักษาการณ์และรับสิ่งของที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโดยให้นายบุญมีเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ส่วนโจทก์นำสืบลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวด้วยตนเอง นอกจากนี้ข้อที่นายสมจิตรหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์เบิกความว่า ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น นายสมจิตรไม่มีเงิน ต้องกู้เงินจากนายสุรศักดิ์หุ้นส่วนผู้จัดการห้างผู้ร้องสอดมาใช้จ่ายเดือนละ1,500 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.ร.5 นั้น ก็ขัดต่อเหตุผลเพราะหากนายสมจิตรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์มีความสามารถประมูลงานได้ในราคาเกือบ 10,000,000 บาท เช่นนี้ นายสมจิตรน่าจะมีความสามารถในการหาเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนได้มากพอสมควรไม่น่าเชื่อว่าจำเป็นจะต้องกู้ยืมเงินนายสุรศักดิ์ไปใช้จ่ายเพียงเดือนละ 1,500 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้างานก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นของโจทก์เอง ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องมอบให้ผู้ร้องสอดไปรับเงินค่าก่อสร้างแทน เพราะเงินที่จะต้องรับแต่ละงวดมีจำนวนมากถึงงวดละกว่า 1,000,000 บาท และถ้าเงินค่าจ้างก่อสร้างแต่ละงวดเป็นของโจทก์จริง โจทก์ก็น่าจะคอยติดตามสอบถามถึงการรับเงินดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อนำเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนต่อไป เพราะโจทก์นำสืบรับว่าขาดเงินทุนหมุนเวียนอยู่ ส่วนข้อที่โจทก์นำสืบว่าได้ติดตามสอบถามการรับเงินของผู้ร้องสอดแล้วผู้ร้องสอดแจ้งว่ากำลังโอนเงินอยู่ ก็เป็นเหตุผลไม่น่าเชื่อเพราะการรับเงินแต่ละงวดมีระยะเวลาห่างกันนานนับเป็นเดือน ทั้งเงินที่ได้รับแต่ละงวดมีจำนวนมาก หากโจทก์ยังไม่ได้รับเงินงวดแรกโจทก์ไม่น่าจะปล่อยให้ผู้ร้องสอดรับเงินงวดต่อ ๆ ไปแทนโจทก์อีกแต่กลับปรากฏว่าโจทก์ให้ผู้ร้องสอดรับเงินติดต่อกันถึง 4 งวดทั้ง ๆ ที่ระยะเวลานับตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ห่างกันเกือบ1 ปี และไม่มีบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารจำเลย หากโจทก์เป็นเจ้าของเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ ซึ่งจะต้องโอนมาเข้าบัญชีของโจทก์จริงแล้ว โจทก์น่าจะขวนขวายเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารจำเลยการที่โจทก์นิ่งเฉยไม่ได้สนใจเช่นนี้ส่อแสดงว่าเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นของผู้ร้องสอดมิใช่ของโจทก์ เพราะโจทก์เป็นเพียงตัวแทนเชิดของผู้ร้องสอดในการรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับตามฟ้องเป็นของผู้ร้องสอด การที่จำเลยนำเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเข้าบัญชีของนายสุรศักดิ์ ศรีสถิตย์ หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของเงินตามเช็คที่แท้จริงและโจทก์ตกลงให้กระทำได้เช่นนี้ แม้เช็คทั้งสี่ฉบับได้ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินก็ตามการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ว่า คำร้องสอดไม่ชอบ ผู้ร้องสอดควรไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก และคำร้องสอดเป็นฟ้องซ้อนนั้นศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน