แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาให้ใช้สิทธิยินยอมให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ให้สิทธิ และบริษัทดังกล่าวจะให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติกรรมวิธีการผลิตสินค้า รวมทั้งการช่วยเหลืออื่น ๆ ตลอดจนส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำโจทก์เป็นครั้งคราว ซึ่งในทางปฏิบัติโจทก์ได้ขอคำแนะนำผ่านสำนักงานสาขาในประเทศไทยของบริษัทดังกล่าว บางครั้งบริษัทดังกล่าวส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำสำนักงานสาขา โจทก์ก็ได้ขอคำแนะนำจากสำนักงานสาขาโดยตรงดังนี้แม้โจทก์จะทำสัญญาให้ใช้สิทธิกับบริษัทดังกล่าวโดยตรงสำนักงานสาขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาก็ตาม แต่บริษัทมอบหมายให้สำนักงานสาขาเป็นตัวแทนในการปฏิบัติตามข้อสัญญา คือให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ตรวจสอบยอดขายและการเปลี่ยนแปลงราคาขาย ต้องถือว่าสำนักงานสาขาเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัทดังกล่าวได้กระทำกิจการอันเป็นเหตุให้ได้เงินค่าสิทธิในประเทศสำนักงานสาขาในไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66กรณีจึงไม่ใช่เงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 70 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ไม่ชอบ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความรับกันว่า บริษัทซีสเบรอ -พอนด์สอินเตอร์ เนชั่นนั่ล จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศแคนาดา มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ได้เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเมื่อปี 2502 มีสถานการค้าตั้งอยู่เลขที่ 226 ถนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานครโดยจดทะเบียนพาณิชย์ต่อสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9มิถุนายน 2502 ประกอบธุรกิจการค้าและขายเครื่องสำอาง และจดทะเบียนการค้าต่อกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2504 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 บริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาให้ใช้สิทธิ(Licensing Agreement) กับโจทก์ โดยยินยอมให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้า เครื่องหอม และเครื่องสำอางภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้าวาสเซอลีน พอนด์ส และแองเจิลเฟซ และเครื่องหมายการค้าอื่นซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสิทธิให้ผู้อื่นใช้ได้ และจะให้คำแนะนำแก่โจทก์ในข้อปฏิบัติและกรรมวิธีในการผลิตเครื่องสำอางตามเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคและความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อให้โจทก์สามารถผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์รวมทั้งการจัดส่งและคำอธิบายทั้งหลายที่เกี่ยวกับสูตรและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนจัดให้มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิมาเยี่ยมเยียนเพื่อดูแลและให้คำแนะนำแก่โจทก์เกี่ยวกับวิธีการผลิตและบรรจุเป็นครั้งคราว โดยโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนคิดคำนวณจากยอดขายของโจทก์ ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2ต่อมาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสิทธิตามสัญญาเป็นเงิน 7,535,648.51 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524ได้จ่ายอีก 4,388,774.56 บาท รวม 2 รอบระยะเวลาบัญชีเป็นเงิน 11,924,423.07 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวผ่านสาขาประเทศไทยโดยโจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70(2)แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเห็นว่าเป็นเงินได้อันเกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยของบริษัทดังกล่าว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า เงินค่าสิทธิในคดีนี้เป็นเงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้เกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยดังที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะทำสัญญาให้ใช้สิทธิตามเอกสารหมาย จ.2 กับบริษัทดังกล่าวโดยตรงสำนักงานสาขาประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตอนทำสัญญาก็ตาม แต่การที่บริษัทดังกล่าวจะได้เงินค่าสิทธิตามสัญญา นอกจากจะต้องยอมให้โจทก์ผลิตสินค้าและใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ระบุไว้แล้ว บริษัทดังกล่าวยังมีพันธะตามสัญญาข้อ 1 ข. ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแนะนำ การจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งจัดให้มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิมาดูแลและให้คำแนะนำเป็นครั้งคราว ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ได้มอบหมายให้สำนักงานสาขาประเทศไทยเป็นตัวแทนเพื่อปฏิบัติตามพันธะข้อนี้รวมทั้งการตรวจสอบยอดขายและการเปลี่ยนแปลงราคาขายของโจทก์อันเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าว ได้เงินค่าสิทธิจากโจทก์โดยถูกต้องครบถ้วนด้วยมิใช่เพียงแต่การทำสัญญาอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำให้บริษัทดังกล่าวได้เงินค่าสิทธิอย่างครบถ้วน หรือสำนักงานสาขาประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับเงินค่าสิทธิแทนเท่านั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คดีฟังได้ว่า สำนักงานสาขาประเทศไทยอันเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัทดังกล่าวได้กระทำกิจการอันเป็นเหตุให้ได้เงินค่าสิทธินั้นในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 และสำนักงานสาขาประเทศไทยก็ได้เสียภาษีแล้ว กรณีนี้จึงมิใช่เงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70โจทก์ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง
พิพากษายืน.