แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เดิมศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้โดยเหตุสุดวิสัย ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอวางเงินจำนวน 30,000บาท พร้อมดอกเบี้ยต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ได้ก่อนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ถึงแม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี ก็ไม่อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 240 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คดีเดิมศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ ดังนั้น โจทก์จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปร้องขอให้บังคับคดีในคดีนั้น จะมาร้องขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในคดีนี้ซ้ำอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลข8210/2527 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่42350 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 20 ฎ/2 ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้โดยเหตุสุดวิสัยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2527 เป็นต้นไปจนถึงวันชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับของศาลแล้ว ได้ยื่นคำร้องเท็จต่อศาลว่าไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ได้อ้างว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยที่ 1และครอบครัว หากต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และครอบครัวไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ขอวางเงินจำนวน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยที่ 1 ขอโดยข้ามขั้นตอนแรกที่ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้โจทก์ทั้งที่จำเลยที่ 1 ยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวอันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ได้กระทำการโดยไม่สุจริต สมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้กระทำการโดยไม่สุจริต ได้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 3 เป็นการจดทะเบียนจำนองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเมื่อโจทก์ทราบเรื่องโจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 วางเงินแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์นั้นเสียพร้อมทั้งขออายัดที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และสั่งอายัดที่ดิน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3และบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสามเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 1 ขอวางเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นเป็นการกระทำโดยสุจริตใช้สิทธิทางศาล และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว รวมทั้งมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดที่ดินพิพาทด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ จึงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2การรับโอนของจำเลยที่ 2 เป็นการรับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบเรื่องคดีความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และการรับจำนองของจำเลยที่ 3 เป็นการรับจำนองโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนเนื่องจากไม่เคยทราบเรื่องความเป็นมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2528 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 2พฤศจิกายน 2527 อันเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8201/2527 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้โดยเหตุสุดวิสัย ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอวางเงินจำนวน30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ได้ก่อนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่8201/2527 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ถึงแม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 1 ปี ก็ไม่อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8201/2527 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ เป็นเรื่องโจทก์จะต้องไปร้องขอให้บังคับคดีในคดีนั้นแต่จะมาร้องขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในคดีนี้ซ้ำอีกไม่ได้ ซึ่งในปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์