คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รู้ถึงการตายของ จ. เจ้ามรดก ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ล่วงพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ทายาทของ จ. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ทายาทของนางจินตนา มณีรักษ์ ผู้กู้จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกัน ร่วมกันชำระเงิน 321,704.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 297,564.50 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่านางจินตนาเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754, 1755 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของนางจินตนาก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงการตายของนางจินตนาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 และยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 21 สิงหาคม 2541 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาดังกล่าวแล้วว่า โจทก์มิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของนางจินตนาเจ้ามรดกเมื่อใด กลับได้ความจากคำเบิกความของนายวิเชียร นกบิน เลขานุการของคณะกรรมการโจทก์ตอบคำถามค้านว่า ใบสำคัญจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.3 เป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือกรณีนางจินตนาถึงแก่ความตายโดยจ่ายให้แก่สามีของนางจินตนาคือจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเป็นทายาท และจ่ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ใบสำคัญจ่ายเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์และมีคำชี้แจงว่าเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของนางจินตนาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันจ่ายเงินดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ล่วงพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 ถึงวันที่ 4 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เช่นกัน ฎีกาของโจทก์ที่โต้เถียงข้อวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ขึ้นมาอีกนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นสาระแก่คดีแต่ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อต่อมาของโจทก์ที่ว่าทายาทของนางจินตราได้นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการรับสภาพหนี้ อายุความจึงสะดุดหยุดลงนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มิได้ยกข้ออ้างดังกล่าวให้เกิดประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยแต่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาข้ออื่นๆ ของโจทก์นั้นแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แก้ฎีกาในประเด็นที่ว่า ทนายความโจทก์ถูกลงโทษห้ามเป็นทนายความตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2541 แต่ได้จัดทำคำฟ้องและยื่นฟ้องคดีนี้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 คำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ศาลฎีกาจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยก็ไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share