คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นคำร้องขอขยายเวลาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ และได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในการดำเนินการอนุญาตเช่นนั้นได้ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยลำพังได้ว่าไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดระยะเวลา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องรับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288, 289 (4), 295, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายศรายุธ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น และข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และต่อมาก่อนเริ่มสืบพยาน โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายและเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงเป็นเงิน 50,000 บาท
จำเลยทั้งสองแถลงไม่ประสงค์ให้การในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 391 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกคนละ 1 เดือน รวมจำคุกคนละ 13 เดือน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองจะยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ต่อมาในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่า เอกสารมีจำนวนมากทนายจำเลยทั้งสองจึงไม่สามารถเรียงอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จทันภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โดยให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2553 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 7 วัน เนื่องจากยังเรียงอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีมีพฤติการณ์พิเศษอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 จำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 อันเป็นระยะเวลาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายให้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของทนายจำเลยทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายให้ในครั้งแรกจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า เหตุการณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ และได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในการดำเนินการอนุญาตเช่นนั้นได้ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยลำพังได้ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องรับไว้วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องพิจารณาฎีกาข้ออื่นต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและพิพากษาใหม่ต่อไป

Share