แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือนแก่โจทก์ เริ่มวันที่ 5 มิถุนายน 2536 แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาได้ ต่อมาศาลพิพากษาให้โจทก์ล้มละลาย ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองคดีนี้ ผู้ร้องจึงได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2547 เกินกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ทั้งการยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี คดีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
คำร้องขอของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะไม่รับคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 แต่ตามเนื้อหาของคำร้องขอไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (1) มิใช่เพียงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระเงินจำนวน 143,507 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เริ่มวันที่ 5 มิถุนายน 2536 เป็นงวดแรก และต้องชำระให้เสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้ หากผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้บังคับคดีได้ทันที ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ปัจจุบันโจทก์เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่า ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะการดำเนินการได้จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการชำระบัญชี ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เมื่อได้ทำการชำระบัญชีเสร็จแล้วผู้ชำระบัญชีได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้โจทก์ล้มละลาย เนื่องจากโจทก์มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ศาลได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ล้มละลายแล้ว อำนาจการจัดการทรัพย์สินจึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินของโจทก์โดยนำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ออกขายโดยวิธีประมูล ผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูลได้เข้าทำสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองคดีนี้ และได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงถือว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีและเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งรวมทั้งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา วันที่ยื่นคำร้องขอเกินกำหนด 10 ปีแล้ว จึงไม่รับคำร้องขอ
ผู้ร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ดังนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันผิดนัดตามคำพิพากษาตามยอม ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โจทก์จึงชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาได้ แม้ผู้ร้องจะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยการประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องก็ได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ ผู้ร้องจึงตกอยู่ในบังคับที่จะต้องบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาตามบทกฎหมายข้างต้นด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 เกินกำหนด 10 ปี แล้ว ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ประกอบกับการอนุญาตให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองเพราะเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น อนึ่งเมื่อคำร้องขอของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะไม่รับคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาเนื้อหาคำร้องขอของผู้ร้องแล้วไม่มีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว ชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (1) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น