คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3592/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาลสายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ฯ และการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอน จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4)
ที่ดินพิพาทของโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นศูนย์บริการไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนี้ การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่ายโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5045 และ 53456 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์บริการลูกค้าของโจทก์ ที่ดินดังกล่าวอยู่ในแนวเขตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาลสายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองบัวขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 โดยโจทก์จดทะเบียนแบ่งขายให้กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากกรุงเทพมหานคร งวดที่ 1 จำนวน 6,361,687.50 บาท เมื่อปี 2540 งวดที่ 2 จำนวน 1,269,062.50 บาท เมื่อปี 2542 และงวดที่ 3 จำนวน 98,250 บาท เมื่อปี 2544 รวมเป็นเงิน 7,729,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) จำนวน 3 ฉบับ รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 696,924.31 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว แต่ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ คงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับอันเนื่องมาจากการแบ่งขายที่ดินพิพาทตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จขายให้แก่ลูกค้าทั่วไป การประกอบกิจการของโจทก์ไม่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอสังริมทรัพย์หรือที่ดินที่ถูกเวนคืนไว้ในการประกอบกิจการอันจะถือว่าเป็นการขายในทางค้าหรือหากำไร โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อที่ดินไว้เพื่อขายโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ในทางค้าหรือกำไรและการที่โจทก์ถูกเวนคืนที่ดินไม่ถือว่าเป็นการขายตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เห็นว่า การที่โจทก์ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งศูนย์บริการลูกค้าของโจทก์ ย่อมแสดงว่าที่ดินนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) บัญญัติความหมายของคำว่า “ขาย” ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่าย จ่าย โอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหงตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 และการที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอน จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ส่วนปัญหาว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวจะถือว่าเป็นการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังกล่าวต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้…(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรมีดังต่อไปนี้…(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรมก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าทรัพย์ดังกล่าวโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นศูนย์บริการลูกค้า ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนี้ การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ และคำวินิจฉัยอทุธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์

Share