แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ย้ายเสาไฟฟ้าของโจทก์แล้วถอดสายเคเบิลโทรศัพท์ออกจากเสาไฟฟ้าโดยมิได้ติดตั้งกับเสาต้นใหม่ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย คงปล่อยให้สายเคเบิลบางส่วน พาดไว้กับต้นหูกวางและหย่อน ลงมาขวางถนน นับเป็น ความประมาทเลินเล่อของพนักงานของโจทก์ ส่วนการที่ลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ขาเข้าลอดผ่านไปได้ และมาเกี่ยวสายเคเบิลดังกล่าวตอนขาออกทำให้เกิดความเสียหาย นับเป็นความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ขาดความระมัดระวังเช่นเดียวกัน เมื่อทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกัน จึงต้องรับผิดค่าเสียหายไปคนละส่วน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคืนเกิดเหตุซึ่งเข้าร่วมในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2523 นายธีระลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้กระบะที่วางของบนหลังคาเกี่ยวเอาสายเคเบิลขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 4 ที่ห้อยต่ำลงมาเนื่องจากการประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 4 เป็นเหตุให้ดึงเอาเสาไฟฟ้าของโจทก์ที่สายเคเบิลพาดอยู่หักไปสองตัน และเครื่องแปลงไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 23,067 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ ให้การว่า โจทก์เป็นผู้ปลดสายเคเบิลดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ลงมาเนื่องจากโจทก์ทำการย้ายเสาไฟฟ้าแล้วมิได้ติดตั้งให้เรียบร้อย เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า สายเคเบิลโทรศัพท์ที่โจทก์เป็นฝ่ายถอนออกตอนย้ายเสาไฟฟ้า โจทก์มิได้จัดการติดตั้งกับเสาต้นไม้ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ก่อนที่พนักงานขององค์การโทรศัพท์จะมาดำเนินการให้เรียบร้อยเป็นการถาวร และสายเคเบิลบางส่วนได้ถูกพาดไว้กับต้นหูกวางและหย่อนลงมาจนเป็นมูลให้เกิดเหตุในคดีนี้ขึ้น ดังนั้นในเบื้องต้นจึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โจทก์ได้กระทำไปโดยเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเพราะในสภาพเช่นนี้ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าอาจเกิดอันตรายขึ้นกับยวดยานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมาได้ อย่างไรก็ดีการที่นายวีระ ธีระรุ่งพรกุล ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขับรถโดยสารนักเรียนคันเกิดเหตุได้ขับรถลอดสายเคเบิลนี้ไม่พ้นจนเกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้น จะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวยังฟังไม่ถนัดเพราะปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบรับกันว่าตอนขาขับเข้าไปรถที่นายวีระขับสามารถผ่านไปได้โดยไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใดเหตุมาเกิดขึ้นตอนขากลับที่นายวีระขับออกมาโดยนายวีระว่ามองไม่เห็นสายเคเบิลที่ทอดผ่านถนนทั้งขาไปและขากลับ แต่ปรากฏจากคำนายเหลือ ไม้ทองพยานจำเลยซึ่งเป็นยามของสวนธนบุรีรมย์และยืนอยู่ที่ป้อมยามตรงที่เกิดเหตุว่า สายเคเบิลอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3 หรือ 4 เมตร ขณะนั้นเป็นเวลา 16.30 นาฬิกา แม้อากาศจะมืดครึ้มเพราะฝนกำลังจะตกแต่ก็มองเห็นสายเคเบิลได้อย่างชัดเจนข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำพยานปากนี้ เมื่อนำมาพิเคราะห์ประกอบกับขนาดของรถโดยสารนักเรียนที่นายวีระขับซึ่ง ปรากฏเป็นรถขนาดใหญ่ที่นั่งคนขับอยู่ในระดับสูงย่อมมองเห็นทิวทัศน์ตลอดจนวัตถุที่อยู่ด้านหน้าได้อย่างชัดเจน การที่นายวีระปฏิเสธว่ามองไม่เห็นสายเคเบิล จึงไม่น่าเชื่อและหากความจริงจะเป็นดังที่ว่า ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขาดความระมัดระวังเท่าที่ควร จึงมิได้สังเกตเห็นวัตถุที่ทอดขวางอยู่ข้างหน้า หรืออาจเป็นเพราะความชะล่าใจว่าขาเข้าสามารถลอดผ่านไปได้ขากลับคงไม่เป็นไร ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นความประมาทเลินเล่อทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงควรรับไปคนละส่วน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดแต่ลำพังฝ่ายเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งของจำนวนค่าเสียหาย 23,067 บาทเป็นเงิน 11,533.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับจากวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเห็นควรให้เป็นพับ