คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินไปสู่ถนนหลวงโดยสงบเปิดเผยมากว่า 10 ปี จึงได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วย มาตรา 1382 แม้โจทก์สามารถใช้คันเหมืองไปสู่ทางสาธารณะได้ ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิของโจทก์ในการใช้ทางพิพาทซึ่งได้มาโดยอายุความเสียไป
จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันมีทางพิพาทเพราะได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ไปแล้วหลังจากโจทก์ฟ้องคดี แต่จำเลยที่ 1เป็นผู้ปิดทางพิพาทอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ก่อนที่จะโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เปิดทางพิพาทได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นสามยทรัพย์จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด 3 แปลง และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด 1 แปลงซึ่งเป็นภารยทรัพย์เกี่ยวกับทางเดินพิพาทที่โจทก์ใช้เดินมากว่า 30 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ปิดกั้นทางเดินภาระจำยอมนั้น ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมที่ปิดกั้น และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองมิได้ตกอยู่ในภาระจำยอมที่ดินของโจทก์และจำเลยต่างติดลำเหมืองสาธารณะซึ่งมีคันดินกว้างข้างละ 4 เมตรเป็นทางสัญจรสาธารณะไปสู่ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ได้ ที่ดินที่ใช้เดินไปสู่ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน เป็นของผู้อื่นมิใช่ของจำเลยทั้งสอง
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ขายที่พิพาทให้นายสมชัยสถิรวัฒนา โจทก์จึงขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาตโดยให้เรียกเป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ให้การทำนองเดียวกับจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันเปิดทางเดินพิพาท ให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินไปสู่ถนนสายลำพูน – เชียงใหม่โดยสงบเปิดเผยมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์สามารถใช้คันลำเหมืองไปสู่ทางสาธารณะได้นั้น เห็นว่า ไม่ได้ทำให้สิทธิของโจทก์ในการใช้ทางพิพาทซึ่งได้มาโดยอายุความเสียไป และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันมีทางพิพาท เพราะได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ไปแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปิดทางพิพาทอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ก่อนที่จะโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทได้
พิพากษายืน.

Share