แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้และสั่งงดสืบพยานแล้วนัดฟังคำพิพากษาคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา ก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีหากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้เพื่อจะได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไป เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว
ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ระบุชัดแจ้งว่าหากผู้ซื้อผิดนัดไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้แก่ผู้ขายตามกำหนดสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกันทันทีแม้จะได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ค่าที่ดินที่ค้างไว้แน่นอนแล้วก็ตาม แต่วัตถุประสงค์แห่งสัญญานั้นว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้ มิใช่ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงต้องบังคับตามมาตรา 387 กล่าวคือ จำเลยผู้ขายจะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ผู้ซื้อชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาดังกล่าวนั้นจำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาเสียได้ หากยังมิได้ปฏิบัติเช่นนั้นจำเลยก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดินโฉนดที่ 2840 จากจำเลยในราคา 60,300 บาท จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งไว้แล้ว10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จำเลยไม่ยอมรับชำระหนี้ตามนัดแล้วบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยรับเงินและโอนที่ดินให้โจทก์
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้ใช้เงินที่เหลือให้จำเลยตามสัญญา
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยอมให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อขาย แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าที่ดินที่ค้างชำระ โจทก์จึงริบเงินที่จำเลยชำระแล้ว สัญญาไม่ผูกพันต่อไป ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ผิดนัดไม่ไปรับเงินและโอนที่ดินให้จำเลย
ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งจำเลยสำนวนหลังว่าโจทก์และให้เรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงบางประการแล้วสั่งงดสืบพยานวินิจฉัยว่าแม้จะฟังว่าโจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคาที่ดินที่ค้างตามเวลาที่กำหนดแต่จำเลยมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระราคาที่ดินก่อนบอกเลิกสัญญาจำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระราคาที่ดินที่ค้างให้จำเลย ฟ้องของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้นั้น ไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน ก็ไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าในวันที่ 24 กรกฎาคม 2512ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ ตามที่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องมา และเมื่อศาลชั้นต้นได้สอบข้อเท็จจริงบางประการแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานทั้งสองฝ่าย จึงให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 เดือนเดียวกัน เวลา 13.00 นาฬิกา ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ก็ดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วก็ดีล้วนแต่เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน เพื่อจะได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไปไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยมา ก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาต่อไปไม่ ฎีกาจำเลยสองข้อนี้ไม่เป็นฎีกาอันพึงรับไว้วินิจฉัย จึงตกไป
จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาจะซื้อขายกำหนดเวลาชำระเงินไว้แน่นอน เมื่อโจทก์ไม่ชำระภายในกำหนด จำเลยย่อมบอกเลิกสัญญาเสียได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้อีก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าหากโจทก์ไม่ชำระเงินตามกำหนดเวลา จำเลยจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่นั้น เห็นว่าตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลย ไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่า หากผู้ซื้อผิดนัดไม่นำเงินที่เหลือมาชำระแก่ผู้ขายตามกำหนดแล้ว สัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกันทันที แม้จะได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ค่าที่ดินที่ค้างไว้แน่นอนแล้วก็ตาม แต่วัตถุประสงค์แห่งสัญญานั้นว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้มิใช่ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนด ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 กล่าวคือ จำเลยจะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน ถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาดังกล่าวนั้น จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาเสียได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามที่จำเลยต่อสู้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ โจทก์มีสิทธิขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญา โดยเสนอชำระหนี้ตอบแทนได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน