คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.รัษฎากรฯ หมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ 9 การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกผู้ประกอบการไว้เป็น 2 ประเภท บ่งชี้ว่ากฎหมายต้องการให้ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งสองประเภทมีผลนับแต่วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน โจทก์เป็นผู้ประกอบการประเภทที่ 2 ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของโจทก์ไม่อาจมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เกณฑ์รายได้ของโจทก์สูงถึงขนาดที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการ เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมโดยอัตโนมัติ การที่กฎหมายกำหนดให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม เป็นแต่เพียงกำหนดวันเวลาในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีและการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยื่นคำขอจดทะเบียน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตลอดจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตลอดจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ให้ถูกต้องต่อไปเท่านั้น เมื่อโจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 14 กันยายน 2541 ภาษีซื้อค่ากระแสไฟฟ้าระหว่างเดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2541 จึงมิใช่ภาษีซื้อที่โจทก์ซึ่งยังมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 ประกอบมาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ แม้ว่าโจทก์จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากซื้อสินค้าหรือรับบริการมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์แล้วก็ตาม โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เงินเพิ่มที่จำเลยประเมินเรียกเก็บจากโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 89/1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้ประเมินภาษีคลาดเคลื่อน ผิดวิธีการ หลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ ของ ป.รัษฎากรฯ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่งดหรือลดเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภีอากรกลางพิพากษากลางยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิต ขายส่งและขายปลีกน้ำแข็ง ชื่อโรงน้ำแข็งพงษ์ทิพย์ จนกระทั่งมูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม เข้าเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาที่บังคับให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกินในเดือนมกราคม 2540 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/1 (1) แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 102 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมชำระภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2541 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 181 ถึง 193 และ 159 ถึง 166 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2542 โดยนำภาษีซื้อค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมาเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน จำเลยโต้แย้งว่าเป็นภาษีซื้อที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 150 โจทก์จึงขอให้อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 99 ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 11 ถึง 30 โดยอธิบดีกรมสรรพากรไม่อนุมัติคำขอของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ถึง 6 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงให้งดเบี้ยปรับตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 35 ถึง 54 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธินำภาษีซื้อค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/1 (1) มาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ 9 การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกผู้ประกอบการไว้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการตามมาตรา 85 ซึ่งความในวรรคสี่กำหนดให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทที่สอง เป็นผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมาตรา 85/1 บังคับให้ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) สำหรับผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่ (ก) วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม… โดยวรรคสองกำหนดให้นำมาตรา 85 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับเช่นกัน บ่งชี้ว่ากฎหมายต้องการให้ความเป็นผู้ประกอบการจดทะบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งสองประเภทมีผลนับแต่วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการประเภทที่ 2 ซึ่งถูกเกณฑ์ให้ต้องยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของโจทก์ไม่อาจมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เกณฑ์รายได้ของโจทก์สูงถึงขนาดที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมโดยอัตโนมัติดังที่โจทก์กล่าวอ้างมา การที่กฎหมายกำหนดให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมเป็นแต่เพียงกำหนดวันเวลาในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีและการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยื่นคำขอจดทะเบียน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตลอดจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ให้ถูกต้องต่อไปเท่านั้น เมื่อโจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 14 กันยายน 2541 ภาษีซื้อค่ากระแสไฟฟ้าระหว่างเดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2541 จึงมิใช่ภาษีซื้อที่โจทก์ซึ่งยังมิได้ผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 ประกอบมาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ แม้ว่าโจทก์จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากซื้อสินค้าหรือรับบริการมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์แล้วก็ตาม โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุอันควรงดหรือลดเงินเพิ่มเพราะจำเลยประเมินภาษีคลาดเคลื่อน ผิดวิธีการ หลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า เงินเพิ่มที่จำเลยประเมินเรียกเก็บจากโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 89/1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้ประเมินภาษีคลาดเคลื่อน ผิดวิธีการ หลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากรดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่งดหรือลดเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share