คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3540/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน. เป็นเพียงความเห็นของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น หามีผลบังคับไม่ หากนายจ้างเห็นว่าคำเตือนไม่ถูกต้องนายจ้างจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานเป็นความผิดและมีโทษ
นายจ้างไม่มีอำนาจฟ้องพนักงานตรวจแรงงานให้รับผิดฐานละเมิดต่อศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา8(5) ได้ เพราะมิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 87,570 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายรวม 5,984 บาท แก่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำเตือนภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับคำเตือน โจทก์ได้ขอผ่อนในการชำระค่าชดเชย แต่จำเลยที่ 1สั่งยกคำขอ โจทก์จำต้องปฏิบัติตามคำเตือน โดยได้นำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายไปวางต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงานแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องนำเงินไปวางต่อพนักงานตรวจแรงงานทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีของเงินจำนวน 87,570 บาท นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 21 วัน เป็นเงิน 906 บาท รวมเป็น 88,476 บาท ค่ารถไปติดต่อพนักงานตรวจแรงงาน 2,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 90,476 บาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 คำเตือนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 87,570 บาทกับดอกเบี้ย 906 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 87,570 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาด ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนส่วนเรื่องละเมิดระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับพนักงานตรวจแรงงานนั้นมิใช่เรื่องคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พนักงานตรวจแรงงานมิได้อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แม้ว่าก่อนที่พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำเตือน ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วเห็นว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย พนักงานตรวจแรงงานอาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 77 แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น หามีผลบังคับไม่ หากนายจ้างเห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้อง นายจ้างจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานเป็นความผิดและมีโทษ หากการกระทำของนายจ้างจะเป็นความผิดอาญาก็เป็นการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรกที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 8 มิใช่นายจ้างเพิ่งจะมีความผิดเมื่อพนักงานตรวจแรงงานให้คำเตือนหรือเมื่อนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำเตือนนั้นการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 8 คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่างนายจ้างกับพนักงานตรวจแรงงานโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1701/2523 ระหว่างบริษัทเทพนิรมิตขนส่ง จำกัด โจทก์ นางสาวสาริกา วงษ์ไกร กับพวก จำเลย

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงาน เพราะมิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(5) ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share