คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 ยอมรับเอาทั้งรถยนต์โดยสารและคนขับของจำเลยที่ 4 มาไว้และร่วมในกิจการเดินรถโดยสารประจำทางขนส่งผู้โดยสาร ด้วยการให้ใช้สีของรถ ตรา และชื่อในนามของบริษัทจำเลยที่ 3 ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าใช้ในกิจการของตน ทั้งในนามและฐานะที่เป็นรถของบริษัทจำเลยที่ 3 โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ในการนี้พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3มีฐานะร่วมเป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนขับรถประจำรถคันดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปส่งผู้โดยสารแล้วเกิดเหตุขึ้น แม้จะเป็นการขับไปนอกเส้นทางสัมปทานก็ยังถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ขับรถในกิจการในทางการที่จ้างของนายจ้าง จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของลูกจ้าง ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ว่าจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 นำรถไปใช้นอกเส้นทางสัมปทานโดยจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้หรือได้รับอนุญาตจากขนส่งจังหวัดเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและขัดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งนั้น เป็นเรื่องภายในและเฉพาะตัวระหว่างจำเลยด้วยกัน จะนำมาใช้ยันเพื่อปัดความรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยสิ้นเชิงไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2, 3 และ 4 เป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน อ.บ.00778 โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างคนขับรถคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2, 3 และ 4 นำผู้โดยสารจากอำเภอเมืองอุบลราชธานีไปเที่ยวชมงานบุญบ้องไฟที่จังหวัดยโสธร ขับไปด้วยความเร็วสูงในขณะมีขบวนแห่บ้องไฟและประชาชนเดินเรียงรายตามขอบและไหล่ถนนด้านซ้าย แทนที่จำเลยที่ 1 จะชะลอความเร็วของรถ มองหรือใช้สัญญาแตรเพื่อเตือนรถที่จะออกจากทางแยกให้ทราบแต่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ขณะนั้นเองรถยนต์บรรทุกเล็กหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ.03877 ของโจทก์ได้แล่นออกจากทางแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งสนิท เลยเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปอยู่ในเส้นทางแล้ว แทนที่จำเลยที่ 1 จะชะลอความเร็วของรถ กลับหักรถหลบหลีกขบวนแห่และประชาชนที่อยู่ทางด้านซ้าย จนรถที่จำเลยที่ 1 ขับล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปชนรถโจทก์ที่แล่นอยู่ในทางได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขายให้บุคคลอื่นและได้มีการขายต่อ ๆ กันจนตกไปเป็นของจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถคันดังกล่าว เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสาร ได้รับสัมปทานในเส้นทางสายอุบล-พิบูล รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นของบุคคลอื่นที่นำเข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 เฉพาะเพียงในเส้นทางที่รับสัมปทานเท่านั้นเหตุเกิดนอกเส้นทางสัมปทาน เป็นการกระทำของเจ้าของรถร่วมโดยพลการที่ไม่ได้รับความยินยอมหรือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ เพื่อขออนุญาตต่อขนส่งจังหวัดอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและขัดต่อระเบียบของกรมการขนส่งทางบก จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 จริง เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ที่ไม่หยุดรถก่อนออกจากทางแยกตามเครื่องหมายจราจร ไม่รอให้รถจำเลยซึ่งแล่นทางตรงผ่านไปก่อน แล่นออกจากทางแยกเลี้ยวขวาทันที จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 3, 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 3, 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 3 ยอมรับเอาทั้งรถยนต์โดยสารและคนขับของจำเลยที่ 4 มาไว้และร่วมในกิจการเดินรถโดยสารประจำทางขนส่งผู้โดยสารด้วยการให้ใช้สีของรถ ตรา และชื่อในนามของบริษัทจำเลยที่ 3 ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าใช้ในกิจการของตน ทั้งในนามและในฐานะที่เป็นรถของบริษัทจำเลยที่ 3 โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ในการนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีฐานะร่วมเป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถประจำรถคันดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปส่งผู้โดยสารแล้วเกิดเหตุขึ้น แม้จะเป็นการขับไปนอกเส้นทางสัมปทานก็ยังถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ขับรถในกิจการในทางการที่จ้างของนายจ้างเช่นกันจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของลูกจ้างด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ 3ที่ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 นำรถไปใช้นอกเส้นทางสัมปทานโดยจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้หรือได้รับอนุญาตจากขนส่งจังหวัดเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและขัดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องภายในและเฉพาะตัวระหว่างจำเลยด้วยกัน จะนำมาใช้ยันเพื่อปัดความรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยสิ้นเชิงหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share