แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยมิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ ต้องถือว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์แจ้งไปยังจำเลยให้จัดการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งในระหว่างนั้นจำเลยก็มิได้สั่งจ่ายเงินอีก
ตามประเพณีการค้าธนาคารโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ ข้อตกลงไม่เป็นโมฆะ ปัญหาว่าข้อนี้เป็นโมฆะหรือไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,088,555 บาท 59 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2520 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้หักเงินที่จำเลยที่ 4 ชำระให้แก่โจทก์แล้ว170,000 บาทออกเสียก่อน ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดชดใช้เงินในวงเงิน2,000,000 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์อีก 450,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสามที่จำนองโจทก์ไว้ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยชดใช้ส่วนที่ขาดจนครบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันเลขที่ 11317-018 ไว้กับธนาคารโจทก์ตามคำขอเอกสารหมาย จ.2 และตกลงขอเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์โดยยอมให้ดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 36068 แขวงหัวหมาก (หัวหมากใต้) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000,000 บาทตามสัญญาจำนองที่ดินหมาย จ.33 แล้วจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารโจทก์ตลอดมาจนยอดหนี้ในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น ต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้กับธนาคารโจทก์เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นอีกโดยจำเลยที่ 1จำนองที่ดินโฉนดที่ 2327 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 1,300,000 บาท ตามสัญญาจำนองที่ดินหมาย จ.34 และจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินโฉนดที่ 42734 แขวงหัวหมาก(หัวหมากฝั่งใต้) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 450,000 บาทตามสัญญาจำนองที่ดินหมาย จ.35 โดยจำเลยผู้จำนองสัญญาว่าหากบังคับจำนองขายทรัพย์ที่จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ที่จำนองก็ยอมใช้เงินที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์ วันที่ 19 กันยายน 2517 โจทก์ได้แจ้งขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อจำเลยที่ 1 จากร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 13 ต่อปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2517 ตามเอกสารหมาย จ.46 จำเลยที่ 1ได้รับทราบแล้วและคงให้บัญชีเดินสะพัดต่อไป ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม2517 โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 เป็นเงิน 5,206,808 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวนเงินดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ของหนังสือนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันนั้นเอง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.32 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2520 โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1ว่าเพียงวันที่ 31 มีนาคม 2520 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 7,088,455 บาท59 สตางค์ ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 3 วัน นับแต่วันรับหนังสือมิฉะนั้นจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินต่อไป ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8
จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการแรกว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 อันเป็นวันที่โจทก์ได้แจ้งยอดเบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบและให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งข้อตกลงในเรื่องคิดดอกเบี้ยทบต้นก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 ด้วย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า การเบิกเงินเกินบัญชีรายพิพาทไม่ได้กำหนดระยะเวลากันไว้จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2517 ธนาคารโจทก์จึงมีหนังสือหมาย จ.32 แจ้งไปยังจำเลยที่ 1 ให้จัดการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี5,206,808 บาท ตามยอดเงินที่ปรากฏในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 นับแต่วันที่ของหนังสือนั้น และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันนั้นเอง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการชำระหนี้แต่อย่างใดจนพ้นกำหนด 7 วันดังกล่าว คือวันที่ 27 ธันวาคม 2517 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็มิได้สั่งจ่ายเงินอย่างใดอีกเลย จึงถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในจำนวนเงิน 5,206,808บาท ดังกล่าวกับดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2517 นั้นแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้เพียงถึงวันที่ 27ธันวาคม 2517 ต่อจากนั้นจะคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงต้องรับผิดชอบชำระต้นเงินจำนวน 5,206,808 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 13ต่อปีทบต้นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2517 จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2517 กับดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปีไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2517 เป็นต้นไปส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าข้อตกลงในเรื่องคิดดอกเบี้ยทบต้น เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 นั้น ฎีกาข้อนี้ แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระแต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่” ตามบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่าในกรณีเกี่ยวกับประเพณีการค้าที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดหรือในการค้าอย่างอื่นทำนองเดียวกัน กฎหมายยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เป็นพิเศษข้อตกลงของจำเลยที่ 1 ที่ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนโดยธนาคารเรียกดอกเบี้ยอยู่แล้วในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ซึ่งต่อมาตกลงกันเป็นร้อยละ 13 ต่อปีนั้น เป็นข้อตกลงตามประเพณีการค้าที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดจึงใช้ได้ไม่เป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้คงฟังขึ้นเพียงบางส่วน” ฯลฯ
“พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,206,808 บาทโดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปีทบต้นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2517จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2517 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปีไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประการ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”