คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650-1651/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้มูลนิธิที่ให้ทุนจะมิได้มีข้อตกลงกับผู้รับทุนถึงเรื่องการทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษา แต่ตามข้อความในหนังสือของมูลนิธิที่มีถึงโจทก์เป็นการยืนยันว่า ในการที่โจทก์ให้ผู้รับทุนของมูลนิธิทำสัญญาผูกพันว่า ต้องมาทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น การที่โจทก์ให้ผู้รับทุนทำสัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นการผิดต่อวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เมื่อผู้รับทุนผิดสัญญา โจทก์มีอำนาจฟ้องให้ชดใช้เงินทุนคืนตามสัญญาได้
เมื่อจำนวนเงินที่ศาลล่างให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ ได้คำนวณถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญา และเป็นการเหมาะสมแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลสูงจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงินที่ผู้รับทุนต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน และจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้าน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 11 เป็นภรรยา จำเลยที่ 2, ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 4 เป็นมารดาของนายบุญสนอง บุณโยทยาน เดิมนายบุญสนอง บุณโยทยาน รับราชการเป็นอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์ ต่อมาได้ขอลาราชการไปศึกษาชั้นปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในการลาไปศึกษาดังกล่าว นายบุญสนอง บุณโยทยานได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์มีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันมีใจความว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องกลับมาเข้ารับราชการ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของวันลา หากผิดสัญญายอมให้เงินเดือนเงินเพิ่มที่ได้รับไประหว่างลาและเงินทุนที่ใช้จ่ายไป คืนให้โจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสัญญาท้ายฟ้องทั้งสองสำนวน (เอกสารหมาย จ.8) นายบุญสนอง บุณโยทยาน ได้ลาไปศึกษาทั้งสิ้น4 ปี 8 เดือน 12 วัน แต่สำเร็จแล้วกลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียง 2 ปี 6 เดือน 2 วัน ก็ปฏิบัติผิดสัญญาโดยลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แล้วต่อมาก็ถูกคนร้ายลอบยิงถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินเดือนเงินเพิ่มและเงินทุนที่นายบุญสนอง บุณโยทยาน จะต้องชดใช้คืนให้โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดในฐานเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายบุญสนอง บุณโยทยานและจำเลยที่ 5 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำนวนเงินที่นายบุญสนอง บุณโยทยาน ต้องชดใช้คืน เมื่อหักวันที่ได้กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ออกตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว เป็นเงินเดือนและเงินเพิ่ม 83,133 บาท 07 สตางค์ เงินทุนของมุลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ 479,712 บาท 01 สตางค์ ตามฎีกาของจำเลยที่ 1,ที่ 2, ที่ 3 คดีคงมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกา 2 ข้อ คือ

1. โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินทุนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์หรือไม่

2. จะสมควรลดจำนวนเงินที่ต้องชดใช้คืน ลงได้เพียงใดหรือไม่

ประเด็นฎีกาข้อ 1. จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 ฎีกาว่า ตามหนังสือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ลงฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2520 ถึงนายปรีดี เกษมทรัพย์ ในฐานะอธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เอกสารหมาย จ.62) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “แต่ละบุคคลซึ่งได้รับทุนนี้มิได้มีข้อตกลงทางกฎหมายกับทางมูลนิธิถึงเรื่องการทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษาแต่อย่างใด ทางมูลนิธิได้รับการรับรองจากทางกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินงานโครงการนี้ ในการให้ทุนการศึกษาซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีอากรนี้โดยตรงแก่บุคคลซึ่งอยู่ภายใต้วิธีการเหล่านี้ ในการให้ทุนเช่นนี้ ทางมูลนิธิย่อมคาดหมายว่าภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้รับทุนจะกลับไปยังสถาบันซึ่งได้รับสนับสนุนเขาอยู่ เราเชื่อว่าเป็นการถูกต้องเหมาะสมกับที่ทางมหาวิทยาลัยจะเรียกร้องให้แต่ละบุคคลซึ่งรับทุนนั้นมีสัญญาผูกพันที่จะทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ถึงแม้ว่าทางมูลนิธิจะไม่เป็นส่วนหนึ่งในการตกลงเช่นนั้นก็ตาม” แสดงว่า เงินทุนที่ทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้แก่นายบุญสนอง บุณโยทยาน ทางมูลนิธิมีวัตถุประสงค์ให้เป็นการกุศล ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกทุนคืนเพราะผิดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ทางมูลนิธิจะมิได้มีข้อตกลงกับผู้รับทุนถึงเรื่องการทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษาก็ตามแต่ตามข้อความหนังสือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (เอกสารหมาย จ.62) ดังกล่าวก็เป็นการยืนยันอยู่ว่าในการที่โจทก์ให้ผู้รับทุนของมูลนิธิทำสัญญาผูกพันว่าต้องมาทำงานชดใช้ภายหลังการศึกษาชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทางมูลนิธิถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ฉะนั้น การที่โจทก์ให้นายบุญสนอง บุญโยทยาน ทำสัญญาไว้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องกลับมาเข้ารับราชการชดใช้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของวันลา มิฉะนั้นยอมชดใช่เงินทุนคืนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 จึงไม่เป็นการผิดต่อวัตถุประสงค์ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด เมื่อนายบุญสนอง บุณโยทยาน ปฏิบัติผิดสัญญาที่ทำไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้ชดใช้เงินทุนคืนตามสัญญาได้

ประเด็นฎีกาข้อ 2 จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 ฎีกาว่า พฤติการณ์ของนายบุญสนองบุณโยทยาน ที่ผิดสัญญาไม่ร้ายแรง เพราะลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้ลาออกไปทำงานบริษัทห้างร้านหรือองค์การใด เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งก็ขอกลับเข้ารับราชการอีก แต่โจทก์ไม่รับ ขอให้ลดค่าปรับหรือค่าเสียหายลงบ้าง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำนวนเงินที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์นั้น ได้คำนวณถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญา และเป็นการเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด”

พิพากษายืน

Share