คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2368/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 เมื่อมาขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มขึ้นตาม พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 มาตรา 31 วรรคสาม จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อนจึงจะได้รับสิทธิและประโยชน์ที่ขอรับนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2516 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมเป็นเวลาห้าปีต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2520 ซึ่งมาตรา 58 ของพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมและให้มีสิทธิที่จะขอรับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย และมาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดมีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้” เนื่องจากโจทก์ประกอบกิจการขาดทุนในช่วงระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงได้ใช้สิทธิทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสามแต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสาม ในช่วงเวลาที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2518 ถึงวันที่30 เมษายน 2526 โจทก์ได้ประกอบกิจการขาดทุนเป็นเงินทั้งสิ้น208,542,822.55 บาท ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิตามมาตรา 31 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ที่จะนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นทั้งหมดตามจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์จำต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงหลังจากครบกำหนดได้รับการส่งเสริมตามบัตรส่งเสริมการลงทุน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2526 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2531 รวมเป็นระยะเวลา 5 ปี ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 53,279,662.60 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 45,081,603.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า การขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520เป็นการขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากการได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้ดุลยพินิจในการที่จะพิจารณาเห็นสมควรอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ผู้ได้รับบัตรส่งเสริมพึงได้รับสิทธิและประโยชน์ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ก็ได้ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวไม่อนุมัติให้โจทก์ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้สิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมเมื่อโจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีและไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ตามจำนวน เมื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 วรรคสามแล้ว แต่ไม่เกิน45,081,603.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2515 อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ใช้บังคับโจทก์จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 วรรคสาม โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ใช้บังคับ ได้ใช้สิทธิยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตาม มาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 ต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนผ่านเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้วย่อมจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อน เพราะมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าการให้การส่งเสริมแก่กิจการใด หรือแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมรายใดไม่สมควรให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมแก่กิจการนั้นหรือผู้ขอรับการส่งเสริมรายนั้นและรายต่อ ๆ ไป โดยไม่ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ได้” คำขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสาม ซึ่งเป็นคำขอต่อเนื่องมาจากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ย่อมจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนลงมติอนุมัติแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิและประโยชน์ที่ขอรับนั้น หาใช่เพียงแต่โจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิและประโยชน์ต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนผ่านเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว โจทก์จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 วรรคสาม ทันที เพราะพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 58 เพียงแต่บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2515 อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ใช้บังคับในการที่จะขอรับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 เพิ่มเติมเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่วางกฎเกณฑ์ว่า เมื่อผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 อยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ใช้บังคับ ยื่นคำขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 ต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนผ่านเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ให้ผู้ขอได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่ขอทันที โดยไม่ต้องให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาอนุมัติ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามคำขอจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมนั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องเรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลคืนจากจำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share