คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 688/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน จำเลยฟ้อง ม.ให้ชำระหนี้เงินกู้ ซึ่ง ม.ได้กู้จากจำเลยไปแทนโจทก์. ซึ่งศาลได้พิพากษาถึงที่สุดให้ ม. แพ้คดี. โดยเหตุที่ไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานการชำระเงินได้. แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินที่จำเลยได้หักเงินรายได้โรงเรียนของโจทก์ตามหนี้เงินกู้รายเดียวกันนี้ไว้คืนฐานลาภมิควรได้. โดยเหตุที่จำเลยกลับนำสัญญากู้รายเดียวกันนี้ไปฟ้อง ม. จนศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ชำระหนี้เงินกู้รายเดียวกันนี้แก่จำเลย. ดังนี้ประเด็นในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน. ไม่เป็นฟ้องซ้ำ.
โจทก์จำเลยตกลงกู้ยืมเงินกัน. โดยโจทก์ให้ ม.ทำสัญญากู้ไว้แทนโจทก์. โดยมีข้อตกลงให้จำเลยหักเงินรายได้โรงเรียนของโจทก์ชำระหนี้เงินกู้นี้. แต่จำเลยได้นำสัญญากู้รายเดียวกันนี้ไปฟ้อง ม.จนศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ ม.ชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย. โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินของโจทก์ที่จำเลยได้หักชำระหนี้รายเดียวกันนี้คืนฐานลาภมิควรได้. ดังนี้ ต้องถือว่าสิทธิของโจทก์ที่ฟ้องเรียกลาภมิควรได้นี้เกิดขึ้นต่อเมื่อคดีที่จำเลยฟ้อง ม.ถึงที่สุดเสียก่อน. และก่อนคดีดังกล่าวถึงที่สุด. จะถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิที่จะเรียกเงินคืนตามมูลฐานดังกล่าวมิได้. เมื่อนับจากวันที่โจทก์ได้ทราบเรื่องซึ่งเป็นเวลาภายหลังได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้อง. ยังอยู่ภายในระยะเวลา 1 ปี. คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนอิสสระนุกูลโดยมีนายมานะ วีรไพบูลย์ เป็นครูใหญ่ ได้ทำความตกลงกับจำเลยโดยจำเลยให้นายมานะเป็นผู้กู้เงินเพื่อมาใช้ในกิจการโรงเรียนของโจทก์ และในการที่โจทก์ตกลงให้จำเลยเข้าทำงานเป็นสมุหบัญชีควบคุมการเงินของโรงเรียน และให้จำเลยหักเงินรายได้ของโรงเรียนชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว ในระหว่างที่จำเลยเข้าควบคุมการเงินโรงเรียนโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2495 จนถึงวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2501 โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ย โดยจำเลยได้หักเงินโรงเรียนโจทก์ไปเป็นจำนวนรวม 89,275 บาท ตามบัญชีท้ายฟ้องครั้นต่อมาโจทก์ได้ทราบจากนายมานะเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2506ว่า จำเลยกลับนำสัญญากู้รายเดียวกันนี้รวม 5 ฉบับไปฟ้องร้องนายมานะและศาลได้พิพากษาในชั้นที่สุดให้นายมานะชำระเงินตามสัญญากู้แก่จำเลยปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1506/2506 ทั้งนี้ โดยจำเลยหาได้เอาเงินจำนวนดังกล่าวหักชดใช้หนี้เงินกู้รายนี้ไม่ จึงขอให้จำเลยชำระเงิน 89,275 บาทคืนแก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายมานะกู้เงินจำเลยเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนโจทก์ รายการเงินท้ายฟ้องเป็นการชำระหนี้รายอื่น ไม่เกี่ยวกับจำเลยซึ่งมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ หากสัญญากู้รายนี้เกี่ยวข้องกับโจทก์ นายมานะก็กระทำในฐานะตัวแทนโจทก์ซึ่งได้ต่อสู้คดีเสร็จสิ้นไปแล้ว และโจทก์ก็ได้ทราบแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ทั้งจำเลยได้ฟ้องนายมานะเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2503ศาลฎีกาได้พิพากษาในชั้นที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1516/2506 ซึ่งอ่านเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2506 โจทก์ย่อมต้องทราบมานาน คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และฟังว่าจำเลยได้หักเงินของโจทก์ไว้ชำระหนี้เงินกู้ที่นายมานะทำไว้กับจำเลยแล้ว แต่กลับมาฟ้องให้นายมานะชำระให้จำเลยอีกเงินที่จำเลยหักไว้จึงเป็นลาภมิควรได้ แต่หนี้บางรายการขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว คงเหลือหนี้ที่ต้องคืนให้โจทก์เป็นจำนวน 60,525 บาท พิพากษาให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องและให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนาย5,500 บาทแทนโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเพียงจำนวน 49,830 บาทและที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้เงินค่าทนายนั้น เป็นจำนวนสูงกว่าอัตราชั้นสูง พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระเงิน 49,830 บาท และค่าทนายความในศาลชั้นต้น 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นฟ้องซ้ำว่า คดีก่อน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1516/2506 นั้น เป็นเรื่องจำเลยฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้จากนายมานะ ซึ่งศาลพิพากษาให้นายมานะแพ้คดี โดยเหตุที่ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์การใช้เงินตามสัญญากู้ได้ แต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินที่โจทก์ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ที่นายมานะได้กู้ไปแทนโจทก์ แต่ชำระให้จำเลยไปแล้วนั้นคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ประเด็นในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อนไม่เป็นฟ้องซ้ำ ในฎีกาข้ออายุความนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ซึ่งเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้โดยเหตุดังกล่าวข้างต้นนั้น เห็นว่า สิทธิของโจทก์ในอันจะอ้างว่าการหักเงินของโจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้แก่จำเลย เป็นการปราศจากมูลตามกฎหมาย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคดีที่จำเลยฟ้องนายมานะในหนี้รายเดียวกันนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว อันจะมีผลเป็นการรับชำระหนี้สองซ้ำเสียก่อน ก่อนที่คดีระหว่างจำเลยกับนายมานะอันโจทก์อ้างมาเป็นมูลฐานฟ้องจำเลยในคดีนี้จะถึงที่สุดจะให้ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเงินคืนตามมูลฐานดังกล่าวมิได้ เพราะสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่คำพิพากษาในคดีก่อนดังกล่าวถึงที่สุด และปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน2506 ภายหลังได้อ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อนับมาจนถึงวันฟ้องก็ยังอยู่ภายในระยะเวลา 1 ปี คดีจึงหาขาดอายุความไม่ ในประเด็นที่ว่า จำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์หรือไม่นั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยืนตามศาลล่างทั้งสองว่า โจทก์ได้ให้นายมานะกู้เงินจำเลยมาใช้ในกิจการโรงเรียนโจทก์ตามข้อตกลงในฟ้อง และจำเลยได้หักเงินของโรงเรียนโจทก์ชำระหนี้ไปแล้ว แต่กลับนำสัญญากู้รายเดียวนี้ไปฟ้องเรียกเงินกู้จากนายมานะจนศาลพิพากษาชั้นที่สุดให้นายมานะใช้เงินแก่โจทก์อีก และวินิจฉัยว่าจำเลยคงรับผิดในเงินจำนวน 49,830 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา พิพากษายืน.

Share