คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกู้เงินพิพาทมีผู้ให้กู้ร่วมกันหลายบริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศแต่ข้อตกลงเลือกศาลดังกล่าว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาดเพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วย การที่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กู้ต่อศาลในประเทศไทยจึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญา
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้
กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มีอยู่อย่างไรเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวนำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้น ให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ส่วนโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มอบอำนาจให้นายพิสุทธิ์เดชะโกศยะ และ/หรือนายธวัช อุดมศิริ เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแทน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงร่วมกันกู้เงินโจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 เป็นเงินจำนวน 8,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีกำหนดระยะเวลาชำระเงินกู้คืนภายใน 36 เดือน นับแต่วันที่เบิกเงินกู้ครั้งแรก หรือตามที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกให้ชำระเงินกู้คืนก่อนกำหนดเวลาดังกล่าวโดยมีสัดส่วนเงินกู้ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินคือโจทก์ที่ 1 ให้กู้จำนวน 3,000,000 ดอลลาร์ โจทก์ที่ 2 ให้กู้จำนวน3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ที่ 3 ให้กู้จำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐจำเลยทั้งสองตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือนแล้วแต่กรณี นับตั้งแต่วันเบิกเงินกู้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ชำระเงินกู้คืน โดยคิดจากอัตราดอกเบี้ย Margin บวกด้วยอัตราดอกเบี้ย SIBOR (Singapore Inter Bank OfferRate) ในกรณีผิดนัดหรือมีการกระทำผิดสัญญาเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 ต่อปี คืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 + 0.75 + SIBOR ต่อปี และตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อใดบรรดาหนี้สินทั้งปวงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ค้างชำระอยู่ตามสัญญาเงินกู้นั้นจะถึงกำหนดต้องชำระให้โจทก์ทั้งหมดทันที และเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจำเลยทั้งสองและบริษัทในเครือของจำเลยทั้งสองได้นำหุ้นของบริษัทยูนิเวสท์ แลนด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 35,800,000 หุ้นมาจำนำไว้แก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ให้กู้ร่วม หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์บังคับจำนำหุ้นทั้งหมดโดยการนำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดได้ทันที ต่อมาวันที่ 30พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันเบิกเงินกู้ไปจากโจทก์ทั้งสามรวมเป็นเงิน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 18 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันเบิกเงินกู้ไปจากโจทก์ทั้งสามอีก 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับเงินกู้จำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้ว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ผิดสัญญาไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ที่ 1 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ผู้ให้กู้จึงได้ดำเนินการบังคับจำนำหุ้นออกขายทอดตลาดทั้งหมด 35,800,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2.70 บาท ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดหุ้นเป็นเงินทั้งสิ้น 96,660,000 บาทเมื่อหักชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระแล้วคงเหลือหนี้ต้นเงินกู้ที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามจำนวน 4,755,652.77 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยเงินกู้ผิดนัด จากต้นเงินกู้ที่ค้างชำระจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายจากจำเลยทั้งสองเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 861,317.10 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินค่าธรรมเนียมทางกฎหมายให้แก่โจทก์ที่ 1 ในการดำเนินการบังคับจำนำหุ้นขายทอดตลาด เป็นเงินจำนวน 29,056.36 ดอลลาร์สหรัฐด้วย รวมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 5,646,026.23 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ211,082,336.63 บาท โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้อง 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ37.386 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยเงินกู้ผิดนัดให้โจทก์ทั้งสามตามสัญญากู้เงินในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี ในจำนวนหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระจำนวน 5,616,969.87 ดอลลาร์สหรัฐ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,646,026.23 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปีของต้นเงิน 5,616,969.87ดอลลาร์สหรัฐ และชำระค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย 29,056.36 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 29,056.36 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เนื่องจากมีข้อตกลงให้ศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้และให้ใช้กฎหมายประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ทั้งสามจริง แต่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ทั้งสามจึงยังไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนก่อนครบกำหนดการคิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและคำนวณดอกเบี้ยผิดกฎหมายดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน โจทก์ทั้งสามบังคับจำนำหุ้นโดยไม่สุจริตและขายหุ้นต่ำกว่าราคาจริงทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายคิดเป็นเงิน 75,180,000บาท นอกจากนี้ การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมอันเกิดจากการบังคับจำนำหุ้น เพราะเป็นค่าเสียหายที่ไม่อาจคาดหมายได้โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันตามสัญญาเพราะสัญญามิได้ลงนามโดยผู้มีอำนาจและมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เบิกเงินกู้ครั้งแรกเพียง 2,500,000ดอลลาร์สหรัฐ และครั้งที่ 2 เพียง 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน 75,180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันขายหุ้น เพื่อนำเงินค่าเสียหายนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและไม่อนุญาตให้แก้ไขฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืน

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,550,052.41 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี ของต้นเงิน 4,755,652.77 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษานี้เป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ และต้องใช้กฎหมายของประเทศใดมาใช้บังคับแก่คดี กับมีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามมีนายธวัช อุดมศิริ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์ทั้งสามได้มอบอำนาจให้พยานและหรือนายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสาม บุคคลที่ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 1 คือนายเออร์เนส วอง เยือนเว็ง และนายวี อี เชิง กรรมการของโจทก์ที่ 1ร่วมกับนางวิเวียน ชาน เลขานุการของโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5สำหรับโจทก์ที่ 2 มีนายดาโต๊ะ ริชาร์ด โฮอึง ฮัน กรรมการ และนายพอน ชาพนี อาหมัดรามลี เลขานุการของโจทก์ที่ 2 ลงนามร่วมกันแต่งตั้งให้นายอ็อง เซ็ง ซึง เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 โดยให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ด้วยตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 หลังจากนั้นนายอ็อง เซ็ง ซึง ได้มอบอำนาจช่วงให้พยานและนายพิสุทธิ์ฟ้องและดำเนินคดีแทนตามเอกสารหมาย จ.8 ส่วนโจทก์ที่ 3 มีนายวี อี เชิงกับนายกึน เฮียง เม็ง ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 3 ได้ร่วมกับนางวิเวียน ชาน เลขานุการของโจทก์ที่ 3 ลงนามแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวนายวอง เม็ง เม็ง โนตารีพับลิก ของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ รับรองและยืนยันว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสาม และลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง นอกจากหนี้นางสาวลินดา โฮตำแหน่ง ASSISTANCE – VICE – PRESIDENT ของโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานรับรองว่า นายเออร์เนส วอง เยือนเว็ง และนายวี อี เชิง ปัจจุบันยังเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ส่วนนางวิเวียน ชาน ก็ยังเป็นเลขานุการของโจทก์ที่ 1 อยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับได้ลงนามโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องในประเทศไทยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิได้นำคดีไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 36.1 นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า การกู้เงินรายนี้มีผู้ให้กู้ร่วมกันหลายบริษัท ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ แต่ข้อตกลงเลือกศาลตามสัญญาฉบับนี้คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาดตามข้อ 36.1 เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วยตามสัญญาเงินกู้ข้อ 36.4 ด้วยเหตุนี้การที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทย จึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญาและเนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 5วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศเมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ สำหรับปัญหาว่าศาลต้องใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับแก่คดีหรือไม่นั้น เห็นว่า กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าว นำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 8อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษายังไม่ถูกต้องจึงสมควรแก้ไขในส่วนนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share