แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้” ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก จึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปรับสินไถ่และจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27957 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากการขายฝากพร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากและส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27957 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โจทก์ทั้งสองทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลย เป็นเงิน 10,000,000 บาท ครบกำหนดไถ่ถอน ภายหลังมีการทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ถอนออกไปอีก 2 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ตามโฉนดที่ดินหนังสือสัญญาขายฝากและหนังสือขอขยายกำหนดเวลาการไถ่ถอนการขายฝาก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิไถ่ที่ดินพิพาทที่ขายฝากคืนภายในกำหนดแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด การขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดี และวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงาน เป็นหลักฐานสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองไปสำนักงานที่ดินและใช้สิทธิไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองได้ถอนคืนเงินจากสำนักงานวางทรัพย์ถือว่าไม่ได้วางทรัพย์และไม่ประสงค์จะชำระหนี้แก่จำเลย นั้น เห็นว่า การไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากไม่ใช่ต้องไปดำเนินการที่สำนักงานวางทรัพย์ แต่ต้องไปทำการจดทะเบียนไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากไว้ ณ สำนักงานที่ดิน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสองไปยังสำนักงานที่ดินเพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์โดยมีเงินสินไถ่พร้อมที่จะชำระแก่จำเลยตามสัญญาขายฝากแล้ว ก็ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองขอใช้สิทธิไถ่คืนภายในกำหนดโดยชอบแล้ว การจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ไปวางทรัพย์คงมีแต่ค่าสินไถ่ ไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมการขายฝากซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ไถ่จะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมสินไถ่ด้วยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้” ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากจึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับค่าสินไถ่จำนวนเงิน 10,000,000 บาท และให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 27957 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนไถ่ถอน ให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายรับผิดและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ