แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คนนั้น เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติให้คำพิพากษาคดีอาญาต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าวและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายโดยไม่ได้ให้เหตุผลและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คน อันเป็นการเกินคำขอ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 เป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 46 ด้วย และกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2004/2550 ถึง 2010/2550 ของศาลชั้นต้นโดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์เรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2004/2550, 2007/2550 และ 2009/2550 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 4 ที่ 2 และที่ 18 ตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนแรกและคดีอาญาหมายเลขแดง 2005/2550, 2006/2550, 2008/2550 และ 2010/2550 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 14 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 21 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดในสำนวนหลังใหม่เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 21 ตามลำดับ เรียงตามชื่อจำเลยที่เรียกในสำนวนดังกล่าวข้างต้น แต่คดีสำหรับจำเลยอื่นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้และเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ในสำนวนหลังว่า ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 ต่อจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 ในสำนวนแรก
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดทั้งเก้าสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 ให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนเงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 นับโทษจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดในสำนวนหลังต่อจากโทษของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดในห้าสำนวนแรก
จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 12 วิกลจริต ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีโจทก์ชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 12 และจำเลยที่ 13 ที่ 16 และที่ 17 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 13 ที่ 16 และที่ 17 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คน ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 11 ที่ 18 ที่ 19 และที่ 20 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 14 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 14 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 และยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 6 ชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายทั้งสี่สิบหกร่วมกับจำเลยคนอื่นๆ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 6 ร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยที่ 6 เริ่มเข้าร่วมเป็นตัวการกระทำความผิดตั้งแต่ปลายปี 2539 เป็นคดีใหม่ภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยที่ 12 เป็นภริยาของจำเลยที่ 16 จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของบุคคลทั้งสอง ระหว่างปี 2536 ถึง 2539 จำเลยที่ 12 ชักชวนพันเอกสมัคร พันเอกไสว พันเอกสมานและผู้เสียหายที่ 1 ร่วมทำธุรกิจค้าที่ดินโดยจำเลยที่ 12 อ้างว่า จำเลยที่ 3 ทำงานที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบริษัทกำลังหาที่ดินจำนวนมากไปเสนอขายให้แก่ชาวต่างชาติ ผู้ที่นำที่ดินไปเสนอขาย จะได้รับค่าตอบแทนสูง ต่อมาจำเลยที่ 12 ชักชวนประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายหลายคนให้ร่วมกันหาที่ดินไปเสนอขายให้แก่จำเลยที่ 12 ผ่านนายทหารทั้งสี่ดังกล่าว เรียกว่า ศูนย์สี่พัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์นันทชิต มีผู้รวบรวมเอกสารสิทธิที่ดินให้จำเลยที่ 12 จำนวนมาก รวมทั้งผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 11 ต่างก็ถูกจำเลยที่ 12 เรียกเก็บค่าตรวจแปลงที่ดินตามจำนวนแปลงที่ดินที่รวบรวมเสนอขาย ซึ่งในระยะเริ่มต้นจำเลยที่ 12 เรียกค่าตรวจแปลงละ 3,000 บาท โดยมีความหวังว่าจำเลยที่ 12 จะขายที่ดินได้และได้รับค่าตอบแทนตามที่จำเลยที่ 12 บอกกล่าวไว้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปจำเลยที่ 12 ไม่สามารถขายที่ดินให้แก่ผู้เสียหายได้ ต่อมามีผู้นำที่ดินมาเสนอขายให้แก่จำเลยที่ 12 มากขึ้น จำเลยที่ 12 จึงจัดตั้งบริษัทสุขชนกิจ จำกัด ขึ้นและให้จำเลยที่ 2 ที่ 10 และที่ 17 เป็นกรรมการโดยไม่มีชื่อจำเลยที่ 12 เป็นกรรมการ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทพชรกนกชัย จำกัด โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 17 และบุคคลอื่นอีก 7 คน เป็นกรรมการ ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 12 ขยายกิจการมีการแนะนำว่า จำเลยที่ 1 เป็นประธานบริษัท จำเลยที่ 12 เป็นรองประธานบริษัทมีการเก็บเงินค่าสมัครเป็นสมาชิก หากสมัครเป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกในอัตราสูงกว่าสมาชิกทั่วไป โดยจำเลยที่ 12 อ้างว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงและมีสิทธิกู้ยืมเงินจากบริษัทได้จำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 12 ยังตั้งสมาชิกที่หาที่ดินได้จำนวนมากเป็นหัวหน้าสายหลายคน ให้ทำหน้าที่รวบรวมที่ดินที่มีผู้นำไปเสนอขายให้ ระหว่างนี้มีการเรียกเก็บค่าตรวจแปลงที่ดินหลายอัตรา ไม่เท่ากันในแต่ละราย ปี 2543 จำเลยที่ 12 กับจำเลยที่ 16 จดทะเบียนหย่ากันแล้วจำเลยที่ 12 กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสใหม่ ในปี 2544 ต่อมาผู้ที่เสนอขายที่ดินรวมทั้งผู้เสียหายหลายคน สอบถามจำเลยที่ 12 เกี่ยวกับความคืบหน้าในการขายที่ดินและผลตอบแทนที่จะได้รับ จำเลยที่ 12 จึงจัดให้มีการประชุมและสังสรรค์ในกลุ่มสมาชิกขึ้นหลายครั้งในหลายจังหวัด รวมทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอุดรธานี มีการปรากฏตัวของจำเลยที่ 1 และที่ 12 ในการประชุมว่า เป็นประธานและรองประธานบริษัทตามลำดับ กับเป็นประธานและรองประธานการจัดประชุม แต่ในที่สุดก็ไม่มีการขายที่ดินและไม่มีสมาชิกผู้ใดรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสี่สิบหกได้รับผลตอบแทนใดๆ ตามที่จำเลยที่ 12 กล่าวอ้าง จึงมีผู้เสียหายหลายคนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 12 และผู้ร่วมกระทำความผิด พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องแล้วรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ด จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดให้การปฏิเสธ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ติดตามคอยดูแลจำเลยที่ 12 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 12 เริ่มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในที่ประชุมสังสรรค์ในงานชุมนุมของผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 1 มิได้แสดงพฤติการณ์ใดๆ หรือชักชวนผู้ใดทำธุรกิจร่วมกับบริษัทพชรกนกชัย จำกัด และจะได้รับประโยชน์ตอบแทน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนได้รับผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งจากบริษัทและไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าบริษัทหรือจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงิน การที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นประธานบริษัทและรับรองว่าผู้เสียหายจะได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอน จึงไม่อาจรับฟังได้นั้น โจทก์มีผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พวกจำเลยได้ชักชวนให้พยานหาที่ดินมาเสนอขายให้แก่ชาวต่างประเทศโดยผ่านพวกของจำเลย โดยอ้างว่าจะขายที่ดินได้ราคาสูงและจะได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงด้วย เมื่อพยานนำสำเนาเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินมาเสนอขายก็จะมีการเรียกเก็บเงินเป็นค่าตรวจแปลงที่ดิน ต่อมาจำเลยที่ 12 ชักชวนให้พยานสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารเพื่อจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยจะเรียกเก็บเงินค่าสมัครสมาชิกหรือค่าสมัครผู้บริหารอีกด้วย ส่วนการซื้อขายที่ดิน มีการประชุมตามโรงแรมในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น มีจำเลยที่ 1 เป็นประธาน และจำเลยที่ 12 เป็นรองประธาน โดยจำเลยที่ 1 จะกล่าวในที่ประชุมทำนองให้ความหวังแก่สมาชิกว่างานใกล้จะสำเร็จและจะได้รับผลตอบแทนแล้ว อันเป็นการยืนยันแก่สมาชิกว่าจะมีชาวต่างประเทศมาซื้อที่ดินแน่นอน ทำให้ทุกคนมีความหวังและหาที่ดินเพิ่มเพื่อจะได้รับค่าตอบแทนตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมประกาศรับสมัครสมาชิกของบริษัทด้วยเช่นกัน อันเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหลายคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลจังหวัดสุโขทัยและศาลจังหวัดอ่างทอง ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไปแล้วซึ่งคดีอาญาของศาลจังหวัดนครสวรรค์เป็นความผิดเดียวกันและเกี่ยวเนื่องกัน อีกทั้งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า ตามที่ปรากฏในฎีกาของจำเลยที่ 1 เองว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลจังหวัดสุโขทัยและศาลจังหวัดอ่างทอง แต่ข้อเท็จจริงในฎีกาของจำเลยที่ 1 และทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลจังหวัดสุโขทัยและศาลจังหวัดอ่างทอง เหมือนกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกันและมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนในคราวเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนในคดีของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลจังหวัดสุโขทัยและศาลจังหวัดอ่างทอง การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ศาลจังหวัดสุโขทัยและศาลจังหวัดอ่างทอง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คน นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติให้คำพิพากษาคดีอาญาต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าวและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายโดยไม่ได้ให้เหตุผลและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คน อันเป็นการเกินคำขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 เป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 46 ด้วย และกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4