แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี
การที่จำเลยและ น. เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น. ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น เงินจำนวน 23,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 313 วรรคแรก
อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 313, 337, 340, 340 ตรี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 33,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและกรรโชก และวางเงิน 23,000 บาท ต่อศาลเพื่อคืนให้แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นายสุรินทร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่กายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นเงิน 530,489 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก, 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดต่อเสรีภาพกับความผิดฐานกรรโชกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 313 วรรคแรก จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ จำคุก 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ประกอบกับเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดก็สืบเนื่องมาจากมารดาจำเลยบอกแก่จำเลยว่าโจทก์ร่วมโกงเงินมารดาจำเลย ทำให้จำเลยตกอยู่ในอารมณ์โกธรและเคียดแค้น จึงกระทำไปเพื่อแก้แค้นแทนมารดาโดยอารมณ์หุนหันพลันแล่นเนื่องจากจำเลยอายุยังน้อย กรณีมีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษในส่วนนี้ให้แก่จำเลยสองในห้า คงจำคุก 9 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 16 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 110,489 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (2) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี และให้ยกคำสั่งคืนเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า ระหว่างที่อยู่ในรถกระบะ จำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทาง ระหว่างนั้นจำเลยล้วงเงิน 10,000 บาท ที่โจทก์ร่วมใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าซ้ายไป เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมสามารถทำกำไรได้ถึง 65,000 บาท และนำเงินส่วนหนึ่ง 55,000 บาท ไปฝากไว้ที่นางสาววรรณาก่อนที่จะไปบ้านนางนิดาเพื่อเอากระเป๋ากลับคืน โดยในการเดินทางไปนั้นโจทก์ร่วมอาศัยรถแท็กซี่ซึ่งจะต้องเสียค่าจ้าง จึงเป็นเรื่องปกติที่โจทก์ร่วมจะต้องมีเงินติดตัวไปด้วย นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางสาววรรณาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ร่วมนำเงินประมาณ 50,000 บาท มาฝากไว้ก่อนที่จะไปหานางนิดาโดยโจทก์ร่วมบอกว่ามีเงินติดตัวไป 10,000 บาท และเมื่อนางสาววรรณาไปเยี่ยมโจทก์ที่โรงพยาบาล โจทก์ร่วมก็เล่าให้ฟังว่าจำเลยกับพวกรุมทำร้ายโจทก์ร่วมและจำเลยเอาเงิน 10,000 บาทไป คำเบิกความของโจทก์ร่วมมีรายละเอียดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ในระหว่างเกิดเหตุ จนกระทั่งเหตุการณ์สิ้นสุดลง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีอาการหลงลืมหรือจดจำเหตุการณ์สับสน ทั้งคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนางสาววรรณาก็สอดคล้องต้องกัน ที่สำคัญโจทก์ร่วมและนางสาววรรณาไม่เคยมีสาเหตุโกธรเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุควรระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมแล้วเอาเงิน 10,000 บาทไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้เอาเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เห็นว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ ส่วนในชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การปฏิเสธจนกระทั่งโจทก์ร่วมและนางสาววรรณาเบิกความไปแล้ว จำเลยจึงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานกรรโชก ซึ่งเท่ากับจำเลยยอมรับว่ามีเหตุการณ์ที่จำเลยกับพวกรุมทำร้ายและหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมตลอดจนขู่กรรโชกทรัพย์อันเป็นการเสริมให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนางสาววรรณามีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ดังนั้นที่จำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่า ไม่ได้เอาเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อสุดท้ายว่า เงิน 23,000 บาท ที่นางสาววรรณา มอบให้แก่นางนิดา ตามที่จำเลยและนางนิดาเรียกร้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมเป็น “ค่าไถ่” หรือไม่ เห็นว่า แม้เหตุที่โจทก์ร่วมสามารถซื้อตะกั่วก้อนจากนายนฤทธิ์แล้วนำไปขายต่อจนได้กำไรถึง 65,000 บาท สืบเนื่องมาจากนางนิดาเป็นผู้แนะนำและนางนิดากำลังเจรจาจะซื้อตะกั่วก้อนดังกล่าวจากนายนฤทธิ์ซึ่งหากโจทก์ร่วมไม่ชิงตัดหน้าซื้อตะกั่วก้อนไปก่อนนางนิดาจะเป็นผู้ที่ได้กำไรก็ตาม ไม่ทำให้การซื้อขายตะกั่วก้อนระหว่างโจทก์ร่วมกับนายนฤทธิ์เป็นการละเมิดหรือผิดสัญญาต่อนางนิดา อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้นางนิดา ดังนั้น ถึงแม้ว่าจำเลยจะเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงนางนิดา ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้นางนิดา ดังนั้นเงิน 23,000 บาท ที่นางสาววรรณามอบให้แก่นางนิดาตามที่จำเลยและนางนิดาเรียกร้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็น ค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก, 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดต่อเสรีภาพกับความผิดฐานกรรโชกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 313 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ จำคุก 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษในส่วนนี้ให้แก่จำเลยสองในห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 13 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์