แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 8,455,312.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,455,312.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,350,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2548) เป็นต้นไปนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัททิพยนานันท์ จำกัด วันที่ 26 ธันวาคม 2535 บริษัททิพยนานันท์ จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 1 แบ่งคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัทที่เหลือให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วน โดยจำเลยที่ 2 ได้รับส่วนแบ่ง 6,970,100 บาท ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัททิพยนานันท์ จำกัด เสียภาษีไม่ถูกต้องจึงแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีทราบ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบริษัททิพยนานันท์ จำกัด และศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ชำระหนี้ 14,074,319.75 บาท แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และผู้ถือหุ้นต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อให้นำเงินส่วนแบ่งที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์ ผู้ถือหุ้นอื่นนำเงินไปชำระให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงถอนฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ชำระเงินคืนเพียง 2,620,100 บาท ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ให้ถูกต้องภายในกำหนดอายุความ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ใหม่เป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างวินิจฉัยว่า การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัททิพยนานันท์ จำกัด แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว) ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย จึงถือเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินให้แก่บริษัททิพยนานันท์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของเงิน หากบริษัททิพยนานันท์ จำกัด หรือผู้ชำระบัญชีขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียประโยชน์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนบริษัททิพยนานันท์ จำกัด ลูกหนี้ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเหตุแห่งการใช้สิทธิเรียกร้องแทน ทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้โดยตรงเข้ามาในคดีด้วย โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งและเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงฟังได้ว่า บริษัททิพยนานันท์ จำกัด มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินในฐานลาภมิควรได้เท่านั้น เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัททิพยนานันท์ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยอาศัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิให้แตกต่างจากสิทธิที่ลูกหนี้พึงใช้ได้ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในอายุความหนึ่งปี นับแต่เวลาที่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนหรือสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 คดีนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีแบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลือของบริษัททิพยนานันท์ จำกัด ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องในการเรียกเงินคืนของบริษัททิพยนานันท์ จำกัด ได้มีขึ้นแล้วนับแต่วันดังกล่าว แม้อายุความจะสะดุดหยุดลงโดยการชำระค่าภาษีอากรดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีก่อนและอยู่ในระยะเวลาไม่เกินสิบปีแล้วศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ย่อมถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ทั้งขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนคือวันที่ 22 สิงหาคม 2546 นั้น อายุความได้ครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน โจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามมาตรา 193/17 วรรคสอง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในวันที่ 20 กันยายน 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ